ธ.ก.ส.เตรียม1,000 ล้านบาทอุ้มลำไย8จังหวัดเหนือตอนบน

21 ก.ค. 2565 | 06:27 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ค. 2565 | 16:34 น.

ลำไยเหนือ 8 จังหวัดจ่อทะลักตลาดต้นส.ค.นี้ ผลผลิตปีนี้เพิ่ม 14 %  ธ.ก.ส.เหนือตอนบนเตรียม 1,000 ล้าน สนับสนุนสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง ผู้ประกอบการรวบรวมแปรรูปลำไย ดูดซับผลผลิตเพื่อกระจายออกนอกพื้นที่ปลูก

นายมาโนช บัวองค์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า คาดการณ์ผลผลิตลำไย ปีการผลิต 2565 ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วยจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ และตาก เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว (2564) คิดเป็น  14.03 % และผลผลิตจะออกมากที่สุดช่วงสัปดาห์ที่ 1-3 ของเดือนสิงหาคม จากผลผลิตมีมากขึ้น และสืบเนื่องจากภาวะการระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า เป็นไปได้ว่าจะเกิดปัญหาผลกระทบทางด้านตลาดเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งในด้านการส่งออกและการบริโภคในประเทศซึ่งขาดกำลังซื้อ 

 

ในด้านของภาครัฐ การแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกลำไยถือเป็นงานที่สำคัญ ในอันที่จะทำให้ผลผลิตของเกษตรกรได้มีที่จำหน่าย และได้รับราคาที่เป็นธรรม เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ส่วนงานภาครัฐ เอกชน และสมาคมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้เล็งเห็นความสำคัญของการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร

ธ.ก.ส.เตรียม1,000 ล้านบาทอุ้มลำไย8จังหวัดเหนือตอนบน

ธ.ก.ส.เตรียม1,000 ล้านบาทอุ้มลำไย8จังหวัดเหนือตอนบน

รวมทั้งได้จัดการประชุมโครงการ สนับสนุนการบริหารจัดการลำไย ปีการผลิต 2565 ขึ้น เพื่อเป็นการเจรจาร่วมมือกันระหว่างผู้รวบรวมผลิตผลลำไย และผู้รับซื้อผลผลิตเพื่อจำหน่าย เพื่อให้เกษตรกรได้มีที่จำหน่ายผลผลิตที่แน่นอน รวมถึงผู้ประกอบการที่มาเข้าร่วมประชุมจะได้รับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของ ธ.ก.ส.ที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง อันจะนำไปสู่การรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรในราคาที่เป็นธรรมด้วย

 

นายรังสรรค์ บูรณะธนัง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธ.ก.ส. ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน กล่าวว่า ธ.ก.ส. ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน ได้ดำเนินการจัดโครงการสนับสนุนการบริหารจัดการลำไยปีนี้เป็นปีที่ 4 สืบเนื่องมาจากลำไยเป็นผลิตผลหลักของจังหวัดในเขตภาคเหนือตอนบน ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุดของประเทศไทย ทุกปีที่ผ่านมาผลผลิตลำไยมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 6 – 7 % 

ธ.ก.ส.เตรียม1,000 ล้านบาทอุ้มลำไย8จังหวัดเหนือตอนบน

จากข้อมูลสำนักเศรษฐกิจการเกษตร คาดการณ์ว่าราคาลำไยปี 2565 ทั้งช่อสดและลำไยอบแห้งที่เกษตรกรขายได้จะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา และด้านการตลาดก็ประสบปัญหาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรน่า (Covid – 19) 

 

จากสถานการณ์ดังกล่าว ธกส.ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน จึงได้จัดทำโครงการบริหารจัดการผลผลิตลำไย ปี 2565 มีลักษณะการจัดงานแบบการประชุม เชิญธุรกิจแปรรูปลำไยขนาดใหญ่ กลุ่มผู้ส่งออกลำไย ผู้ประกอบการ SMAEs หัวขบวน เพื่อเข้าร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนแนวคิด พร้อมเชื่อมโยงธุรกิจและร่วมกำหนดทิศทางในการบริหารจัดการลำไยขึ้น 

 

กิจกรรมนี้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ประกอบการ SMAEs หัวขบวน รับทราบความต้องการปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนะในการประกอบธุรกิจ เชื่อมโยงธุรกิจในห่วงโซ่ผลิตผลลำไย สามารถขยายตลาดการค้าในปัจจุบันเพิ่มขึ้น รวมทั้งสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ ทั้งสินเชื่อ SME เกษตร และสินเชื่อเพื่อรวบรวมผลไม้ปี 2565 ได้มีเงินทุนเพียงพอในการรับซื้อผลผลิตลำไยจากเกษตรกร เพื่อกระจายผลผลิตลำไยสดออกนอกพื้นที่ และหรือเพื่อรวบรวมลำไยสด แปรรูปเป็นลำไย อบแห้งทั้งเปลือก และอบแห้งเนื้อสีทอง เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร โดยผู้เข้าร่วมประชุมในวันนี้ เป็นผู้ประกอบการธุรกิจลาไยจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ส่วนราชการและเอกชนที่เกี่ยวข้อง จำนวน 40 คน

 

นายมาโนช กล่าวอีกว่า มาตรการแรกคือ มาตรการด้านการอำนวยสินเชื่อ ธ.ก.ส. ได้เตรียมการที่จะอำนวยสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง แก่ผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่การผลิตลำไย ทั้งกลางน้ำปลายน้ำ ไว้จำนวน 1,000 ล้านบาท  ประกอบด้วยสินเชื่อ 4 โครงการ คือ

 

(1) สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ(สินเชื่อฟื้นฟู) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเสริม สภาพคล่องต้นทุนต่ำให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพ แต่ประสบปัญหาสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ และลดผลกระทบต่อการจ้างงาน และเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศภายใต้ภาวะที่การดำเนินธุรกิจประสบ ปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กรอบวงเงินกู้การแบ่งกลุ่มลูกหนี้ ตามหลักเกณฑ์ของ ธปท. โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม วงเงินสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1-2 อัตรา 2%  ต่อปี ปีที่ 3-5 อัตราดอกเบี้ย MRR หรือ MLR แล้วแต่ประเภทลูกค้า โดยรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยแทนใน 6 เดือนแรก ใช้ บสย. ค้ำประกันเงินกู้

 

(2) สินเชื่อเสริมแกร่ง SME วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 100 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในปีที่ 1-2 อัตรา 4 % ต่อปี ปีที่ 3-10 อัตราดอกเบี้ย MRR, MLR, MOR ตามแต่ประเภทลูกค้าและประเภทเงินกู้ ในกรณี หลักทรัพย์ไม่เพียงพอสามารถขอใช้ บสย. ค้ำประกันได้เช่นเดียวกัน

 

(3) สินเชื่อ SME โลจิสติกส์ผลไม้เศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประกอบธุรกิจ เกี่ยวกับระบบโลจิสติกส์ผลไม้เศรษฐกิจแบบครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการรวบรวมแปรรูป บรรจุหีบห่อ การกระจายสินค้า การเก็บรักษา และการขนส่ง ตลอดห่วงโซ่อุปทาน วงเงินกู้ตามโครงการจำนวน 5,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย เงินกู้ในปีที่ 1-2 ร้อยละ 4 ต่อปี ปีที่ 3-10 อัตราดอกเบี้ย MRR, MLR ตามแต่ประเภทลูกค้า ในกรณีหลักทรัพย์ ไม่เพียงพอสามารถขอใช้ บสย. ค้ำประกันได้เช่นเดียวกัน

 

(4) สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย (สู้ภัยโควิด : COVID-19) เพื่อปฏิรูปภาคการเกษตร โดยการปรับ/ เปลี่ยน/พัฒนา การสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นในชุมชน กลุ่มเป้าหมายได้แก่ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สถาบันการเงินประชาชน สถาบันการเงินชุมชน สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนวิสาหกิจเพื่อสังคม ผู้ประกอบการ และเกษตรกรรุ่นใหม่ (New Gen) ภายใต้งบประมาณ 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี ระยะเวลา 3 ปีแรกนับแต่วันที่กู้ และตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป ให้คิดอัตราดอกเบี้ย ตามเกณฑ์ปกติของธนาคาร

 

สำหรับผู้ที่ต้องการสินเชื่อต้องเป็นผู้ประกอบการ สหกรณ์การเกษตร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือ เกษตรกรที่ประกอบกิจการรับซื้อ รวบรวม แปรรูปเพื่อจำหน่าย และส่งออกนอกเหนือไปจากการสนับสนุนสินเชื่อแล้ว ยังได้รับการส่งเสริมการผลิตลำไยให้เป็นลำไยคุณภาพ สามารถลดต้นทุนการผลิตลง เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกลำไยมีผลตอบแทนที่เหมาะสม ทำสวนลำไยเป็นอาชีพที่ยั่งยืนนั้น ก็ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อส่งเสริมการปลูกลำไย โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม

 

ส่วนมาตรการ 2 การช่วยเหลือลูกค้าเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน มีดังนี้

 

(1) โครงการชำระดีมีคืน ปีบัญชี 2565 เน้นกลุ่มลูกค้าเกษตรกร บุคคล กลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล รวมถึงกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งเป็นลูกค้าที่มีหนี้ถึงกำหนดชำระ หรือ หนี้ค้างชำระ 0-3 เดือน ในปีบัญชี 2565 เกษตรกรบุคคล รับดอกเบี้ยคืน 20% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง ไม่เกินรายละ 1,000 บาท, กลุ่มเกษตรกร นิติบุคคล กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รับดอกเบี้ยคืน 10 % ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง สะสมไม่เกิน 3,000 บาท, กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ สะสมรายละไม่เกิน 10,000 บาท

 

(2) โครงการลดดอกเบี้ยแก้หนี้ภาคครัวเรือน 2565 มุ่งเน้นให้เกษตรกรและบุคคลกลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล รวมถึงกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่เป็นหนี้ด้อยคุณภาพ (Non - Performing Loan - NPL) หรือหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ที่มีสถานะรับรู้รายได้ดอกเบี้ยค้างรับเกณฑ์เงินสด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 หรือลูกหนี้ที่ออกจากโครงการพักชาระหนี้โครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลที่ครบกำหนด โดยมีอัตราในการลดดอกเบี้ยได้แก่ ลดดอกเบี้ยไม่เกิน 50 % ของดอกเบี้ยค้างชำระทั้งหมด เมื่อชำระหนี้เสร็จสิ้นเป็น รายสัญญา, กรณีชำระดอกเบี้ยได้เสร็จสิ้น ลดดอกเบี้ย 30% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง, กรณีชำระดอกเบี้ยบางส่วน ลดดอกเบี้ย 20 % ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง สำหรับเกษตรกรและบุคคลในกรณีที่เป็นลูกหนี้กลุ่มบุคคล กลุ่ม เกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล รวมถึงกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ลดดอกเบี้ย 10% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง

 

(3) สำหรับผู้ประกอบการ สหกรณ์การเกษตร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือเกษตรกร ที่ได้รับ ผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ หรือภัยธรรมชาติ และการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และมีภาระหนัก ธนาคารมีมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ด้วยการขยายระยะเวลา ชำระหนี้และพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพตามความสมัครใจ ภายหลังการปรับปรุงโครงสร้างหนี้