นายเทอดเกียรติ พร้อมมูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์องค์กรและความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เปิดเผยในการกล่าวผ่าน Virtual Forum Innovation Keeping the World : Rethink Recover นวัตกรรมรักษ์โลก ช่วงเสวนาภายใต้หัวข้อ "Rethink Recover คิดใหม่เพื่อโลก : Innovation for Zero Carbon" ว่า ปตท.มีการเตรียมความพร้อมเรื่องของพลังงานสะอาด รักษ์โลกมากขึ้น และทุกอย่างจะเป็นไฟฟ้า จากเดิมที่เคยทำธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และปิโตรเคมี ซึ่งมีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ค่อนข้างมาก
ล่าสุดช่วงต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ปตท. ได้มีการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในการทำธุรกิจเป็น "Powering life with future energy and beyond” หรือการขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต" โดยตั้งเป้าให้มีสัดส่วนกำไรประมาณ 30% ในปี 2030 จากพลังงานแห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ GO GREEN เป็นต้น
ปตท. ยังตั้งเป้าไปสู่การเป็น Carbon neutrality ก่อนปี 2050 ตามที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ประกาศบนเวทีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์
นายเทอดเกียรติ กล่าวต่อไปอีกว่า ปัจจุบัน ปตท. มีบริษัทลูกหลายแห่งที่ดำเนินการศึกษา และเตรียมความพร้อมในเรื่องของพลังงานแห่งอนาคต เช่น บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งทำเรื่องการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ภายในสถานี PTT Station ของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ (OR) ยังได้มีการติดตั้งสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) แล้วเป็นจำนวนมาก ตอบรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสนใจกับการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น
"ปตท. ทราบและกำลังอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยน จากธุรกิจเดิมที่เกี่ยวกับไฮโดรคาร์บอนซึ่งน่าจะไปต่อด้วยความยากลำบาก แต่ก็ยังจำเป็นต้องไป เพราะทุกคนยังจำเป็นต้องใช้น้ำมัน โดยที่น้ำมันยังเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ยังต้องใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า แต่ต่อไปแทนที่จะผลิตไฟฟ้าจากน้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ ก็จะมีพลังงานสะอาดเข้ามา เรียกว่าพลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) เช่นพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์"
นายเทอดเกียรติ กล่าวอีกว่า การปรับเปลี่ยนไปสู่แนวทางดังกล่าวมีความจำเป็น เสมือนการถูกบังคับจากทุกอย่างบังคับให้ต้องปรับ เช่น การค้าขายกับต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง Zero Carbon เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา ไม่ว่าองค์กรเดินเรือระหว่างประเทศ องค์การบินระหว่างประเทศก็จะมีเรื่องดังกล่าวเข้ามาบังคับมากขึ้น
ขณะที่เรื่องใกล้ตัว โดยเฉพาะการที่ ปตท. ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งนักลงทุน เครดิตเรตติ้งก็จะมีคำถามเรื่องดังกล่าวเหล่านี้ว่าจะทำอย่างไร หรือจะไปกู้เงินกับธนาคารก็มีการสอบถามเรื่องดังกล่าว ซึ่งบางธนาคารถึงขนาดไม่ให้กู้หากไม่มีการดำเนินการ หรือให้กู้ดอกเบี้ยก็จะแพง
"การจะดำเนินการไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าว การสนับสนุนของภาครัฐมีความจำเป็นอย่างมาก โดยเรื่องซีโร่คาร์บอนเป็นประเด็นที่ทุกคนให้ความสนใจ โดยเฉพาะในระดับสากล เพราะฉะนั้นทุกองค์กรจะต้องคิด และศึกษาให้รอบครอบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพราะมีเรื่องของต้นทุน หรือค่าใช้จ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง กล่าวก็คือทำช้าก็คงไมได้ แต่หากทำเร็วเกินไปก็คงไม่ดี สิ่งที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าการทำธุรกิจสุดท้ายต้องแข่งขันได้ หากทำเรื่องการรักษ์โลก มีการใส่เงินเข้าไปเป็นจำนวนมากในเวลาที่ไม่เหมาะสมก็จะบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันขององค์กรได้"