วันที่ 1 สิงหาคม 2565 เวลา 09.30 น. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ มอบหมายให้นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการเปิดประชุม พร้อมด้วย Mr. Christophe Rouleau ผู้แทนจากสถานทูตแคนาดาประจำประเทศไทย สัตวแพทย์หญิง ดร.พัชรี ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ
นายสัตวแพทย์อภินันท์ คงนุรัตน์ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานด้านการปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์วัชรพล โชติยะปุตตะ ผู้อำนวยการกองความร่วมมือด้านการปศุสัตว์ระหว่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจาก สพส. สคบ. สสช. กสก. สตส. และ กรป. ร่วมให้การต้อนรับเจ้าหน้าที่จากหน่วยงาน the Canadian Food Inspection Agency (CFIA) ประเทศแคนาดา ในโอกาสเข้าตรวจประเมินระบบการกำกับดูแลการผลิตสินค้าเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์ของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1- 11 สิงหาคม 2565
ในการตรวจประเมินครั้งนี้จะมีการเข้าตรวจโรงงาน (on-site) ทั้งสิ้น 6 แห่ง ประกอบด้วยโรงเชือดเป็ด จำนวน 2 แห่ง โรงเชือดและโรงงานแปรรูปเป็ด จำนวน 1 แห่ง โรงเชือดและโรงงานแปรรูปไก่ จำนวน 2 แห่งและโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ปีก จำนวน 1 แห่ง ซึ่งเป็นการตรวจประเมินระบบการดูแลการผลิตสินค้าเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์ เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าที่ส่งจากประเทศไทยสอดคล้องตามมาตรฐาน กฎ ระเบียบประเทศแคนาดา มากกว่านั้น ในการตรวจครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อเปิดตลาดการส่งออกสินค้าเนื้อเป็ดและผลิตภัณฑ์จากประเทศไทยไปยังประเทศแคนาดาด้วย
ในการนี้ ผู้แทนจากกรมปศุสัตว์ได้บรรยายภาพรวมของกรมปศุสัตว์ ระบบการเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพสัตว์ปีก การควบคุมป้องกันและการควบคุมการเคลื่อนย้ายโรคสัตว์ปีก และระบบการตรวจสอบคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ ระบบการผลิตสินค้าเนื้อสัตว์ปีก ทั้งนี้ ในปัจจุบันโรงเชือดและโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงาน CFIA แล้วเป็นจำนวน 35 โรงงาน
ในปี 2564 มีปริมาณการส่งออกเนื้อไก่แปรรูปไปประเทศแคนาดา จำนวน 7,720 ตัน มูลค่า 981.82 ล้านบาท ปี 2565 (ม.ค.- มิ.ย.) 5,944 ตัน คิดเป็นมูลค่า 856.03 ล้านบาท ซึ่งการตรวจประเมินครั้งนี้ น่าจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกไทยไปประเทศแคนาดาได้มากขึ้น