ครม.อนุมัติงบฯ 4พันล้าน แบ่ง5กระทรวง แก้น้ำท่วม-ภัยแล้ง

09 ส.ค. 2565 | 07:19 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2565 | 17:54 น.

มติครม.ล่าสุด อนุมัติกรอบวงเงิน 4,019 ล้านบาท ให้ 5 กระทรวง 13 หน่วยงาน ดำเนิน 1,361 รายการ  บริหารจัดการทรัพยากรน้ำช่วงฤดูฝนปี 65 และกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 65/66 

วันที่ 9 ส.ค. 65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติ งบกลาง กรอบวงเงิน 4,019 .80 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนิน "โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ" ในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้งปี 2565/2566 จำนวน 1,361 รายการ ให้กับ 5 กระทรวง 13 หน่วยงาน 


นายธนกร ระบุว่า 5 กระทรวง 13 หน่วยงาน ที่จะดำเนินการตามโครงการฯ จำนวน 1,361 รายการ กรอบวงเงิน 4,019.80 ล้านบาทประกอบด้วย ดังนี้ 

  1. กระทรวงกลาโหม โดยกองทัพบกและหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จำนวน 32 รายการ วงเงิน 23.31 ล้านบาท
  2. กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) จำนวน 2 รายการ วงเงิน 76.45 ล้านบาท
  3. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 411 รายการ วงเงิน 1,190.43 ล้านบาท
  4. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จำนวน 139 รายการ วงเงิน 432.91 ล้านบาท
  5. กระทรวงมหาดไทย โดยเทศบาลเมือง เทศบาลตำบล เทศบาลนคร จังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล รวม 777 รายการ วงเงิน 2,296.70 ล้านบาท

ครม.อนุมัติงบฯ 4พันล้าน แบ่ง5กระทรวง แก้น้ำท่วม-ภัยแล้ง

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้งในปี 65/66 โดยพื้นที่เป้าหมาย คือ พื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัย/ ภัยแล้งตามที่ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด และ พื้นที่เสี่ยงที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไข บรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งโดยเร่งด่วน ตามที่หน่วยงานในพื้นที่จังหวัดเสนอผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ใน 5 กลุ่มประเภทโครงการ ได้แก่

  1. การซ่อมแซม ปรับปรุง อาคารชลศาสตร์ เช่น ซ่อมแซม/ปรับปรุงพนังกั้นน้ำ คันกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ คลองส่ง/ระบายน้ำ อาคารบังคับน้ำ สถานีโทรมาตร เป็นต้น
  2. การปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ และกำจัดผักตบชวา ที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การระบายน้ำและการจัดการพื้นที่น้ำท่วม/พื้นที่ชะลอน้ำ
  3. การขุดลอกคูคลอง เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
  4. การเตรียมความพร้อมวางแผนเครื่องจักรเครื่องมือ เช่น ซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำเครื่องมือเครื่องจักร ยานพาหนะขนย้าย
  5. การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อเก็บกักไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง เป็นการจัดหาแหล่งน้ำรองรับน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูฝนสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งถัดไป เช่นสระ /อ่างเก็บน้ำ ระบบกระจายน้ำ ธนาคารน้ำใต้ดิน ขุดเจาะบาดาล ปฏิบัติการฝนหลวง เป็นต้น


โฆษกฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สทนช. ประเมินว่า หากดำเนินการแล้วเสร็จจะมีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 35,723 ไร่ มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 34.02 ล้านลูกบาศก์เมตร ประชาชนได้รับประโยชน์ประมาณ 36,735 ครัวเรือน และสามารถกำจัดผักตบชวา/วัชพืชน้ำได้ประมาณ 4.74 ล้านตัน

 

รวมถึงสามารถซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ให้สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ จำนวน 394 แห่ง รวมทั้ง ยังเป็นการเพิ่มการลงทุนภาครัฐโดยการช่วยกระตุ้นการซื้อวัสดุและจ้างแรงงานคนในท้องถิ่นด้วย