นายจ้างป่วน ค่าแรงพุ่ง ต่างด้าว 2.3 ล้านรายรับอานิสงส์ สินค้าจ่อปรับราคาอีก

10 ส.ค. 2565 | 13:00 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2565 | 13:15 น.

นายจ้างโอดปรับขึ้นค่าแรง ต้นทุนพุ่งไม่หยุด บิ๊กสภาอุตฯ ชี้ซ้ำเติมน้ำมันแพง ค่าไฟ ดอกเบี้ยจ่อขยับ คาดที่สุดต้องปรับราคาสินค้า ยอมรับได้ปรับตามเงินเฟ้อ สภาองค์การนายจ้างฯ ระบุต่างด้าว 2.3 ล้านรายได้อานิสงส์ ก่อสร้างจ่อขอปรับราคากลาง โรงแรมยันไม่กระทบ "จ่ายสูง-คนขาด"

 

ค่าจ้างหรือค่าแรงขั้นต่ำของไทยปรับขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นมา โดยอัตราค่าจ้างต่ำสุด-สูงสุดทั่วประเทศ ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 313-336 บาทต่อวัน ล่าสุด นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในรอบใหม่ คณะกรรมการหรือบอร์ดค่าจ้าง ประกอบด้วยผู้แทนจากฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง ในนามไตรภาคีได้ข้อยุติร่วมกันในเบื้องต้นจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 5-8%

 

ทั้งนี้ได้พิจารณาจากภาวะเงินเฟ้อ จีดีพี และค่าครองชีพของแต่ละจังหวัด ซึ่งจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในเดือนสิงหาคม และคาดจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบในช่วงต้นเดือนกันยายน ซึ่งนายสุชาติระบุว่า ส่วนตัวอยากให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค. 2565 มองว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม อย่างไรก็ดีการเตรียมปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้มีความเห็นจากผู้ประกอบการในวงกว้าง

 

นายจ้างป่วน ค่าแรงพุ่ง ต่างด้าว 2.3 ล้านรายรับอานิสงส์ สินค้าจ่อปรับราคาอีก

 

  • ภาคผลิตแบกต้นทุนเพิ่ม

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ ”ว่า การปรับขึ้นค่าจ้างหรือค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้คงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะภาคแรงงานมีค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อที่ช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเฉลี่ยสูงถึง 5.6% ซึ่งสูงกว่าภาวะปกติที่อยู่ที่ 1-3% หรือสูงขึ้นเท่าตัว ส่งผลต่อค่าครองชีพของประชาชน และภาคแรงงานที่สูงขึ้น

 

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

“การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้คงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งที่เศรษฐกิจก็ยังไม่ดี ต้นทุนต่าง ๆ ของผู้ประกอบการก็สูงขึ้นทุกด้าน แต่การปรับขึ้นก็เข้าใจได้ว่าเพื่อช่วยให้ลูกจ้าง พนักงาน หรือผู้ใช้แรงงานอย่างน้อยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะปรับขึ้นเท่าไรตรงนี้มีคณะกรรมการไตรภาคีดูแล โดยค่าแรงจะปรับขึ้นในแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน ซึ่งจะดูจากเงินเฟ้อและจีดีพีแต่ละจังหวัดเป็นสำคัญ”

 

 

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะนำมาซึ่งต้นทุนของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นแน่ ทำให้มีภาระต้นทุนเพิ่มในลักษณะ Cost - Push Inflation ขณะที่ปัจจุบันผู้ประกอบการในภาพรวมก็มีภาะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอยู่แล้วทั้งค่าน้ำมัน พลังงาน โลจิสติกส์ และค่าไฟฟ้ารอบใหม่ (ก.ย.-ธ.ค.) ก็เตรียมปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยที่เตรียมปรับขึ้น จะทำให้มีภาระต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่ยังเป็นหนี้

 

ดังนั้นหากภาครัฐสามารถช่วยได้ เช่น ชะลอการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า หรือหากจะปรับขึ้นก็ให้เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ขึ้นแรง ไม่เช่นนั้นจากต้นทุนต่าง ๆ รวมถึงค่าจ้างที่จะปรับขึ้น หากผู้ประกอบการแบกรับภาระไม่ไหวก็คงต้องมีการปรับขึ้นราคาสินค้า ซึ่งในส่วนของผู้ประกอบการที่นำวัตถุดิบเข้ามาผลิต และขายตลาดในประเทศเป็นหลักน่าห่วง เพราะคงปรับราคาเพิ่มขึ้นไม่ได้มาก ส่วนผู้ผลิตส่งออกยังสามารถผลักภาระไปยังผู้บริโภคประเทศปลายทางได้

 

  • แรงงานต่างด้าวเฮ รับอานิสงส์

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย)กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามภาวะเงินเฟ้อที่คาดปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 5-6% ตามค่าครองชีพของลูกจ้าง การขยายตัวของจีดีพี และความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง ซึ่งแต่ละพื้นที่คงปรับขึ้นไม่เท่ากัน ปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำของไทยมีค่าจ้างสูงเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ บรูไน (กราฟิกประกอบ)

 

ธนิต  โสรัตน์

 

“ถามว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ใครได้รับอานิสงส์ มองว่าแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในระบบปัจจุบันประมาณ 2.3 ล้านคน จะได้รับอานิสงส์มากสุด โดยสัดส่วนกว่า 60% เป็นแรงงานจากเมียนมา และกัมพูชารองลงมาสัดส่วน 20% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานขั้นพื้นฐานในอุตสาหกรรมที่ยังต้องใช้แรงงานมาก และคนไทยไม่ค่อยทำ เช่น โรงงานแปรรูปไก่ โรงงานสับปะรด แรงงานภาคเกษตรและปศุสัตว์ ภาคท่องเที่ยวที่ใช้แรงงานต่างด้าวเสิร์ฟน้ำ อาหาร เป็นต้น”

 

นอกจากนี้กลุ่มแรงงานที่จะได้รับอานิสงส์ เช่น ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ แรงงานภาคก่อสร้าง แรงงาน/ พนักงานในบริษัทที่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จะสร้างแรงกดดันให้นายจ้างต้องปรับขึ้นรายได้ตามมา

 

  • อุตฯก่อสร้างต้นทุนเพิ่ม 5%

นางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้าง 5-8% ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สมาคมฯรับได้ เพราะความจำเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างครั้งนี้มาจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ช่วยกลุ่มแรงงานให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น แต่ไม่ควรปรับขึ้นค่าจ้างหรือค่าแรงขั้นต่ำทั้งประเทศเท่ากัน เนื่องจากแต่ละจังหวัดมีค่าครองชีพไม่เท่ากัน และมีบริบทการใช้แรงงานแตกต่างกัน

 

นายจ้างป่วน ค่าแรงพุ่ง ต่างด้าว 2.3 ล้านรายรับอานิสงส์ สินค้าจ่อปรับราคาอีก

 

ขณะเดียวกันสมาคมฯคาดว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 5-8% จะกระทบต่อต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างประมาณ 5% ในส่วนของงานภาครัฐจำเป็นที่จะต้องปรับราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาเหล็กและราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคากลางวัสดุก่อสร้างในปัจจุบันยังไม่มีการปรับราคาลดลง หากมีค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นก็มีความจำเป็นที่จะต้องปรับราคากลางเพื่อสอดรับกับงานภาครัฐ ขณะที่งานภาคเอกชนมีการปรับขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น

 

ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 5% เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล และเป็นอัตราที่แรงงานสามารถอยู่ได้ รวมทั้งเจ้าของกิจการก็อยู่ได้ด้วยเช่นกัน หากปรับค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่านี้จะอยู่กันลำบาก เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19

 

  • โรงแรมจ่ายสูงยันไม่กระทบ

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า การที่ภาครัฐจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก 5-8% อาจส่งผลกระทบในกลุ่มธุรกิจระดับเอสเอ็มอีบางกลุ่ม แต่สำหรับธุรกิจโรงแรม ส่วนใหญ่มีการจ่ายค่าจ้างแรงงานสูงกว่าแรงงานขั้นต่ำอยู่แล้ว โดยพนักงานโรงแรมส่วนใหญ่มีเงินเดือนเกิน 1 หมื่นบาทต่อเดือน รวมถึงพนักงานยังมีเซอร์วิสชาร์จ และสวัสดิการต่าง ๆ ด้วย ประกอบกับธุรกิจโรงแรมมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานอยู่แล้ว จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ทำให้เวลานี้การจ่ายค่าจ้างพนักงานโรงแรมเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมมาก เพื่อดึงแรงงานเข้าสู่ภาคธุรกิจโรงแรม

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3808 วันที่ 11 – 13 สิงหาคม 2565