นายจารุวัฒน์ สิงห์สมดี ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสบริหารบริษัทในเครือและโครงการลงทุน รักษาการผู้จัดการส่วนนโยบายความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า GPSC ได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรมไฟฟ้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
โดยมุ่งตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกลยุทธ์ความยั่งยืน โดยวางเป้าหมายที่จะก้าวสู่องค์กรความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปีค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero GHG Emissions) ในปี ค.ศ. 2060 ร่วมกับกลุ่ม ปตท. และสอดรับกับนโยบายประเทศผ่าน 4 กลยุทธ์หลัก หรือ 4S ที่จะขับเคลื่อนให้ GPSC ก้าวสู่การเป็นบริษัทฯ ชั้นนำด้านนวัตกรรมพลังงานเพื่อความยั่งยืนระดับโลก
สำหรับกลยุทธ์ 4S ประกอบด้วย S1: Strengthen and Expand the Core การสร้างความแข็งแกร่ง พร้อมขยายการให้บริการในธุรกิจหลัก ที่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตและไม่ลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ S2: Scale-up Green Energy เพิ่มสัดส่วนการพัฒนาโครงการพลังงานสะอาดให้ได้มากกว่า 50% ในปี ค.ศ. 2030 S3: S-Curve & Batteries การพัฒนานวัตกรรมพลังงานและธุรกิจแห่งอนาคต เช่น แบตเตอรี่ที่จะมาเพิ่มประสิทธิภาพของไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และ S4: Shift to Customer-centric Solutions บริการโซลูชั่นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ ทั้งในด้านการผลิตไฟฟ้าและสาธารณูปโภค โดยใช้นวัตกรรมพลังงานทั้งโรงไฟฟ้าหลักและโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก
ทั้งนี้ แม้ว่าทิศทางการพัฒนาธุรกิจของ GPSC จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น แต่ด้วยประสิทธิภาพของการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ ยังคงต้องพึ่งพิงพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ดังนั้น จึงต้องมุ่งหาเทคโนโลยีใหม่ที่จะมาช่วยดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นำไปกักเก็บ หรือการนำคาร์บอนฯ ไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ (Carbon Capture Utilization and Storage: CCUS)
รวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำก๊าซไฮโดรเจนเข้ามาเป็นส่วนผสมในตัวเชื้อเพลิง เพื่อทำการเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ ลดการเกิดคาร์บอนฯ ขณะเดียวกัน คาร์บอนฯ ที่สามารถลดได้ จะนำไปสู่การซื้อขายในตลาด (Carbon Credit) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ GPSC กำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net-Zero
“ปัจจุบันโรงไฟฟ้าพลังงานหลักยังคงมีความจำเป็นในการพัฒนา เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ในประเทศ แต่การมุ่งสู่ขยายพอร์ตพลังงานสะอาดจะช่วยเพิ่มการกระจายการใช้เชื้อเพลิง เพื่อให้สัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง เพราะวันนี้ยังไม่มีเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ Low Carbon ควบคู่กับเสถียรภาพในการจ่ายพลังงาน แต่ในฐานะบริษัทพลังงานจึงต้องพยายามหาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ทั้งการพัฒนาแบตเตอรี่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานหมุนเวียน การหาเทคโนโลยีดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในขณะนี้ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่โลกกำลังมุ่งสู่เทรนด์พลังงานสะอาด” นายจารุวัฒน์ กล่าวเสริม
นอกเหนือจากกลยุทธ์ขององค์กรแล้ว บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญในเรื่องของ ESG (Environmental, Social and Governance) ซึ่งขณะนี้บริษัทฯ มุ่งเน้นไปในเรื่อง Climate Change ที่จะช่วยแก้ปัญหา บรรเทาผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยมีการศึกษาเพื่อลงทุนโครงการใหม่ที่เป็น Green Energy เพื่อตอบโจทย์สังคมและเป้าหมายในอนาคต โดยร่วมกับสถาบันชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนของบริษัทฯ อีกทางหนึ่ง
ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 7,236 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน/โคเจนเนอเรชั่น/พลังงานความร้อน 4,467 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำไฟฟ้า 449 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 2,320 เมกะวัตต์ รวมถึงมีโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงานด้วยเทคโนโลยี SemiSolid กำลังการผลิต 69 เมกะวัตต์ชั่วโมง
ทั้งนี้ แผนเดิมบริษัทมีเป้าหมายจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศให้ได้ 8 กิกะวัตต์ ภายในปี 2573 หรือเพิ่มสัดส่วนมากกว่า 50% จากกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนผู้ถือหุ้นทั้งหมด