นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันนี้ ได้รับทราบรายงานการสรรหาเลขาธิการ สกพอ. คนใหม่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปใน 2 เดือน ซึ่งนายกฯ ได้เร่งรัดให้การสรรหาเสร็จสิ้นโดยเร็ว
ทั้งนี้ที่ผ่านมามีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาเลขาธิการ สกพอ. คนใหม่ โดยมีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เนื่องจาก นายคณิศ แสงสุพรรณ จะหมดสัญญาจ้างลงในวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ขณะเดียวกันนายคณิศ ยังมีอายุครบ 65 ปี ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 จึงต้องสรรหาเลขาณ คนใหม่
นายคณิศ กล่าวว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 17 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีเลขาฯ คนใหม่เข้ามารับตำแหน่ง สกพอ. จะแต่งตั้งนางธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการ รักษาการไปก่อน ขณะที่นายธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการ อีกคนจะเป็นหนึ่งในแคนดิเดต เลขาฯ คนใหม่
ส่วนคนอื่น ๆ จะมีเข้ามาอีกหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับการเสนอชื่อของคณะกรรมการสรรหา เพราะการสรรหาครั้งนี้ไม่ได้เปิดรับสมัครแบบทั่วไป แต่เป็นการให้เสนอชื่อ เพราะต้องการผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในโครงการ EEC จริง ๆ
“ตอนนี้ไม่ห่วงอะไรแล้ว เพราะทุกโครงการได้ถูกวางเอาไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการลงทุน ดังนั้นเลขาฯ คนใหม่เมื่อเข้ามาก็เพียงแค่ประคับประคองทำตามที่วางเอาไว้ได้ในทันที เพราะ EEC ก็ทำงานมาได้ระดับหนึ่งแล้ว และในช่วงต่อไปใน 5 ปีข้างหน้าเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในการประชุมวันนี้ จึงมาแจ้งแผน 5 ปีของ EEC ว่าวางเอาไว้รองรับเรียบร้อย” นายคณิศ ระบุ
นายคณิศ ยอมรับว่า ในกรณีของคณะกรรมการสรรหาจะต่ออายุสัญญาการจ้างให้อีกหรือไม่นั้น เชื่อว่าน่า จะเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะต้องให้คณะกรรมการสรรหาคัดเลือกเลขาฯ คนใหม่ก่อน ซึ่งมีผู้จะมาสานต่อการทำงานในโครงการสำคัญแน่นอน และจากนี้ก็ยังเป็นที่ปรึกษาให้กับโครงการ EEC ได้
สำหรับเป้าหมายของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ในช่วง 5 ปีต่อไป (2566-2570) กำหนดเป้าหมายการลงทุนเอาไว้ 2.2 ล้านล้านบาท (2566-70) โดยจะมีเงินลงทุนประมาณปีละ 400,000-500,000 ล้านบาท และ EEC น่าจะขยายตัวได้ 7-9% ต่อปี ทำให้ประเทศไทยขยายตัวได้ประมาณ 5% ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผนจะทำให้ประเทศไทยหลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางภายในปี 2572 ได้
โดยปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐาน 4 โครงการหลัก จะเข้าสู่ช่วงการก่อสร้างปลายปีนี้ และน่าจะแล้วเสร็จในปี 2568- 2569 ซึ่งจะทำให้ EEC ก้าวเข้าสู่ระยะการขยายตัวที่สำคัญในปี 2569 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ในการดำเนินการเรื่องอื่น ๆ ในช่วง 5 ปีจากนี้ ยังมีโครงการสำคัญ ๆ อีกหลายเรื่อง เช่น การพัฒนาเทคโนโลยี 5G ปัจจุบัน 5G ของไทยเร็วที่สุด ครอบคลุมมากที่สุดใน อาเซียน นำหน้าประเทศอื่นๆ ประมาณ 2 ปีทำให้บริษัทชั้นนำด้านดิจิตัล หันมาลงทุนใน EEC อนาคตจะเป็นธุรกิจไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี
ส่วนยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV นั้น นโยบาย EV ของรัฐบาลไทยนำหน้าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน แสดงให้เห็นว่าประเทศไทย ตั้งใจจะเป็นศูนย์กลางการผลิตของ อาเซียนต่อไป ทำให้บริษัทรถยนต์ที่ตั้งใจจะผลิต EV เข้ามาลงทุนใน EEC รวมทั้งธุรกิจแบตเตอรี่ ระบบไฟฟ้า และ ชิ้นส่วนรถ EV ซึ่งตอนนี้มีหลายรายสนใจเข้ามาลงทุนแล้ว ทั้งเอเชีย และยุโรป เช่น BYD เป็นต้น
ขณะที่เทคโนโลยีการแพทย์ และ Wellness การที่ EEC ได้จัดระบบสาธารณสุขและการแพทย์ลงตัวโดยแบ่งงานกันทำทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการเปิดฉากการพัฒนาการแพทย์สมัยใหม่ทั้ง จีโนมิกส์ และ Digital Hospital ทำให้มีความสนใจการลงทุนทางการรักษาพยาบาลระดับสูง ระบบที่เชื่อมโยงนี้จะนำไปสู่เครือข่ายธุรกิจ Wellness ทั้ง รพ.ชั้นนำ เวชสำอาง ศูนย์พักฟื้น ธุรกิจโรงแรมเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการแพทย์ อุตสาหกรรมยา และอุปกรณ์การแพทย์
เช่นเดียวกับศูนย์นวัตกรรมสำคัญ ทั้ง EECi ดำเนินการเสร็จแล้วในระยะแรก ปัจจุบันกำลังทำหน้าที่เป็นศูนย์วิจัย พัฒนา และถ่ายทอดความรู้ เกษตร ดิจิทัล หุ่นยนต์ โดรน EV และแบตเตอรี่ รวมทั้ง EECd ในส่วนของ Digital Valley wfhเปิดดำเนินการแล้ว และจะรับการลงทุน DATA Center แรกปลายปี 2565