ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ว่า ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามแผน โดยยกตัวอย่างเป้าหมายที่กำหนดว่า จะเปลี่ยนผลผลิตการเกษตรที่มีลักษณะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ด้วยการเพิ่มผลิตภาพและรายได้ให้สูงขึ้น และการเปลี่ยนผลผลิตให้เป็นผลิตภัณฑ์ ลดการสูญเสีย ให้มีรายได้มากขึ้น แต่มีคำถามว่าจะปฏิบัติอย่างไรให้ไปถึงจุดหมายตามสองหลักคิดนี้
เพราะเมื่อดูรายละเอียดแล้วพบว่า เป้าหมายที่หนึ่งระบุตัวชี้วัด 4 ตัว คือ 1.จะทำให้จีดีพีภาคการเกษตรโตขึ้น 4.5 % ซึ่งในวันนี้ จีดีพีเกษตรประมาณ 8% ถ้าโตขึ้นตามที่ระบุ ก็หมายความว่าโตขึ้นเป็น 8.36 % ของจีดีประเทศ ซึ่งช้ามาก ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร
ส่วนตัวชี้วัดที่สอง รายได้สุทธิต่อครัวเรือนของเกษตร ไม่ต่ำกว่า 537,000 บาท หมายถึงต้องมีรายได้เดือนละ 44,750 บาท มีคำถามว่ารายได้นี้มาจากไหน มีเกษตรกรเท่าไหร่ที่จะมีรายได้ตามเป้าหมายนี้
สำหรับตัวชี้วัดที่ 3 กำหนดให้พื้นที่เกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น 2 ล้านไร่ และพื้นที่เกษตรที่ได้รับการรับรองตามหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ GAP เพิ่มขึ้น 2.5 ล้านไร่ แต่เมื่อดูขีดความสามารถของการรับรอง GAP และเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรฯจะพบว่าทำไม่ได้ เพราะขีดความสามารถไม่ถึง
ขณะที่ตัวชี้วัดที่ 4 กำหนดว่า พื้นที่เพาะปลูกพืชที่ไม่เหมาะสมลดลง 10% เมื่อสิ้นสุดแผน มีคำถามว่าเมื่อลดแล้ว เกษตรกรเหล่านั้นปลูกพืชอะไร รายได้เป็นอย่างไร
สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า การกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเหมือนคัมภีร์นำร่องในการพัฒนาประเทศ ยกระดับความเป็นอยู่ประชาชนให้มีชีวิตที่มั่นคง หลุดพ้นจากความยากจน แต่แผนของสภาพัฒน์ดูเหมือนจะดีในเรื่องหลักคิด แต่กลับไม่เคยดูในทางปฏิบัติว่าหน่วยงานต่าง ๆ ทำตามแผนได้จริงหรือไม่
สิ่งที่ควรดำเนินการจึงไม่ใช่การเขียนแผนที่สวยหรู แต่ต้องศึกษา ทำความเข้าใจถึงอุปสรรคปัญหาที่เกิดจากทั้งระบบราชการ และทัศนคติของราชการในการแก้ปัญหาให้ประชาชน จึงจะแก้ปัญหาได้ถูกจุด ที่สำคัญคือ ระบบการจัดสรรงบประมาณก็ไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหา และไม่สอดรับกับแผนฯฉบับที่ 13 นี้ จะทำอย่างไรให้มีการแปลงเป้าหมายในแผนฯไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
“เลฃาสภาพัฒน์ฯ ไม่มีอำนาจในการกำกับให้ข้าราชการต้องปฏิบัติตามแผนฯ ฉบับที่ 13 ซึ่งเป็นปัญหาอย่างยิ่ง สิ่งที่เราต้องการคือ ความเร็วในการแก้ปัญหา ความแม่นยำในการแก้ปัญหา จะลองผิดลองถูกไม่ได้ และมาตรการต้องสอดรับปัญหาของแต่ละท้องถิ่น
ดังนั้นแผนฯ ฉบับที่ 13 นี้ ต้องไม่ใช่แผนทำโชว์ แต่ต้องนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่กำหนดแผนสวยหรู สุดท้ายประชาชนจนเหมือนเดิม สภาพัฒน์ฯต้องใช้กลไกปฏิบัติใหม่ แทนการใช้ระบบราชการ”ศ.ดร.กนก กล่าว