นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) โดยแผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กิจกรรมปฏิรูปที่ 4 ปฏิรูประบบการบริหารจัดการเขตควบคุมมลพิษ
กรณีเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด มีกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (ปี พ.ศ. 2564 – 2565) มีเป้าหมายควบคุม ลดและขจัดมลพิษที่เกินค่ามาตรฐานและยกเลิกประกาศเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด และ คพ.ได้มอบหมายศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการโครงการประเมินผลเพื่อยกเลิกเขตควบคุมมลพิษตามแผนการปฏิรูปประเทศ
โดยมีวัตถุประสงค์ของการศึกษา ประกอบด้วย 1) พื้นที่ที่สมควรยกเลิกเขตควบคุมมลพิษ 2) การปรับปรุงหลักเกณฑ์การประกาศหรือยกเลิกเขตควบคุมมลพิษ 3) มาตรการการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนเมื่อสถานการณ์มลพิษทุกด้านไม่เกินมาตรฐาน 4) ขั้นตอนการดำเนินการยกเลิกเขตควบคุมมลพิษ และ 5) การปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษ
นายอรรถพล กล่าวว่า ผลการศึกษา พบว่ายังไม่มีพื้นที่ใดที่มีความพร้อมในการยกเลิกเขตควบคุมมลพิษภายในปี 2565 และได้เสนอการจัดกลุ่มตามความพร้อมในการยกเลิกเขตควบคุมมลพิษ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
1) ไม่เสนอพื้นที่ใดที่มีความพร้อมในการยกเลิกเขตควบคุมมลพิษภายในปี 2565 2) เข้าสู่ความพร้อมในระยะไม่เกิน 3 ปี คือ หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ 3) มีความพร้อมปานกลาง และต้องใช้เวลามากกว่า 3 ปี มี 15 พื้นที่ใน 10 จังหวัด และ 4) มีความพร้อมน้อย คือ ตำบลหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี และมาบตาพุด จังหวัดระยอง
โครงการประเมินผลเพื่อยกเลิกเขตควบคุมมลพิษฯ ที่ คพ.ได้มอบหมายศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการ ในปีงบประมาณ 2565 ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษจังหวัดระยอง เพื่อให้มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อผลการศึกษาอย่างรอบด้าน
ทั้งนี้ ได้ให้ความสำคัญกับมาตรการการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และมาตรการการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานเขตควบคุมมลพิษ เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหามลพิษและคุณภาพสิ่งแวดล้อมอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ
เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษ 18 พื้นที่ ใน 13 จังหวัด ให้บรรลุตามเป้าหมายต่อไป เพื่อยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพอนามัยของประชาชน นายอรรถพล กล่าว