เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 29 สิงหาคม 2565 ที่ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ร่วมงาน "ESG : Powering the Climate Resilient Economy and Path to Net Zero" ของสมาคมธนาคารไทย ที่ต้องการประกาศเจตนารมณ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG Declaration)
เพื่อกำหนดทิศทางที่ชัดเจนร่วมกันของอุตสาหกรรมธนาคาร โดยมีดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการสมาคมธนาคารไทย CEO Co-sponsor ด้าน Sustainability และสมาคมธนาคารของประเทศไทย สื่อมวลชน เข้าร่วมงาน ในครั้งนี้
นายวราวุธ กล่าวว่า วันนี้ต้องขอขอบคุณสมาคมธนาคารไทย และธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้ให้เกียรติกระทรวงฯ มาพูดคุยถึงแนวทางของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไทยภายใต้นโยบาย BCG Model ซึ่ง 2 หน่วยงานจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจขนาดเล็ก
เนื่องจากประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change เป็นเรื่องที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง และเริ่มมีมาตรการทางภาษีต่างๆ เกิดขึ้นมา หรือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2566 และมีอีกหลายประเทศที่จะนำ CBAM มาปรับใช้
ดังนั้นหากต้องการขับเคลื่อนประเทศไทยในเรื่องดังกล่าว จึงจำเป็นต้องอาศัยเงินทุน และเงื่อนไขที่ทางธนาคารจะให้กู้ในอนาคตอาจต้องมีเงื่อนไขในเรื่องการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ซึ่งกระทรวงทรัพย์ฯ เราพร้อมที่จะให้ข้อมูลกับธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงิน
นายวราวุธกล่าวว่า ต้นปีหน้าทางยุโรปจะทดลองใช้มาตรการทางภาษี CBAM และในปีพ.ศ.2567 จะมีการบังคับใช้จริง ซึ่งขณะนี้ CBAM จะครอบคลุมสินค้า 5 ชนิด คือ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย และไฟฟ้า หากมีการส่งสินค้าไปในยุโรป และคาร์บอนฟุตพริ้นท์มากเกินกว่าที่ CBAM กำหนดไว้
เจ้าของธุรกิจจะต้องโดนเก็บภาษีมากขึ้น ดังนั้นหากเราต้องการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ก็จำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามหากในอนาคตมีการขยายกลุ่มสินค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ทางผู้ผลิตสินค้าต่างๆ หรือกลุ่มธุรกิจ ก็ต้องมีการพัฒนาการผลิตที่ลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ลงได้
ด้านดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ปัญหาเชิงรุกด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล สร้างความตระหนักรู้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืน เป็นอย่างมาก ดังนั้นการประกาศเจตนารมณ์ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญอย่างยิ่งสำหรับภาคการธนาคารไทย ตอกย้ำความมุ่งมั่นที่ยั่งยืน
โดยคำนึงถึงความเสี่ยงและโอกาสใหม่ ๆ ในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายและสิทธิมนุษยชน การเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างครอบคลุมโดยธนาคารสมาชิกของสมาคมธนาคารไทยได้เห็นชอบร่วมกันในการดำเนินการตามแนวทางสำคัญ 6 ประการ ดังนี้
1) ธรรมาภิบาล : มีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี และดำเนินการกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิผลในระดับคณะกรรมการ โดยกำหนดภาระและขอบเขตความรับผิดชอบที่ชัดเจนในระดับการจัดการในเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
2) ยุทธศาสตร์ : บูรณาการพันธกิจด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เข้ากับยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจและกำหนดกรอบด้านการเงินที่ยั่งยืน โดยสนับสนุนเพื่อให้ประเทศสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้อย่างราบรื่น
3) การบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล : ผนวกรวมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ไว้ในกระบวนการบริหารความเสี่ยง
4) ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน : ปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน รวมทั้งนวัตกรรมทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน
5) การสื่อสาร : สื่อสารและประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนในการสร้างจิตสำนึกสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
6) การเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน : พัฒนาระบบการติดตามและการรายงานที่สอดคล้องกับกรอบการกำกับดูแลของประเทศไทยและมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนในระดับสากล