การประมูล โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รอบที่สอง กำลังถูกสังคมกังขาว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 อาจใช้อำนาจ รวบรัด พิจารณาซองข้อเสนอด้านต่างๆ ให้ได้ตัวเอกชนผู้รับสัมปทานโครงการเร็วขึ้นทั้งที่เอกสารการพิจารณามีเป็นจำนวนมาก
รวมถึงการปล่อยผ่านการผิดคุณสมบัติเกณฑ์ทีโออาร์ของผู้รับเหมาบางราย ท่ามกลางกระแสคัดค้านการประมูล และคดีความที่คาราคาซังอยู่ในชั้นศาล ทั้งศาลปกครอง ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องรวม 4 คดี ที่กำหนดวันวิฉิจฉัย หรืออาจมีคำร้องเพิ่มเติมได้ทุกเมื่อ
ตะลึง!16 วันผ่านซองเทคนิค
โดยตั้งข้อสังเกต ว่า การพิจารณาซอง ประมูลสายสีส้มตะวันตกจะใช้ระยะเวลาค่อนข้างสั้น หากนับตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2565 วันประกาศผลซอง 1 (คุณสมบัติ) ถึงวันที่ 7 กันยายน 2565 ประกาศผลซอง 2 (ข้อเสนอด้านเทคนิค) จะใช้เวลาพิจารณาห่างกันเพียง 16 วัน
จากนั้นพิจารณา เปิดซอง 3 (ข้อเสนอการเงิน) ทันทีวันที่ 8 กันยายน 2565 ซึ่งห่างกันเพียงวันเดียว และได้ผู้ที่ยื่นข้อเสนอที่ดีที่สุดใน 17 วัน เมื่อเทียบกับสายสีม่วงใต้ใช้เวลาพิจารณา ซองด้านต่างๆ รวม 35วัน
สอดรับกับนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุว่า การพิจารณา ใช้เวลาเพียง 10 กว่าวันเท่านั้น โดยเฉพาะซองเทคนิคทั้งที่ มีเอกสารเสนอหลายลัง แต่ละเล่มมีเอกสารไม่ต่ำกว่า 300 ลัง ซึ่งเชื่อว่าต้องใช้เวลาพิจารณานาน
อย่างไรก็ตามอาจเป็นไปได้ว่า แต่ละโครงการคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 กำหนดระยะเวลาที่ต่างกันหรือไม่ แต่ที่น่าสังเกต ที่คณะกรรมการฯพิจารณาให้ ITD Group ผ่านคุณสมบัติ การประมูลไปจนถึงการเปิดซองราคา
ทั้งที่มีกรรมการบริษัทต้องโทษจำคุกและคดีถูกพิพากษาจนถึงที่สุด ซึ่งรัฐเองจะเป็นผู้เสียหายและอาจนำไปสู่การฟ้องร้อง กรณีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ รวมถึงการกีดกันการแข่งขันที่เอกชนอีกฝั่งอาจนำไปเป็นหลักฐานยื่นฟ้องเพิ่มเติมได้
ต่อข้อถามกรณี ITD ขัดคุณสมบัติ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะล้มประมูล เพราะเหลือเอกชนรายเดียวทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน นายสามารถสะท้อนว่า แม้ว่า PPP จะเปิดโอกาสให้เอกชนรายเดียวกรณีที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่รัฐได้งานซึ่งอาจต่างจากการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ในทางปฎิบัติมองว่าไม่เหมาะสม
“เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุใด รฟม. จึงเปิดซองข้อเสนอซองที่ 2 (เทคนิค) ของ ITD ด้วย เนื่องจาก ITD น่าจะมีคุณสมบัติขัดหรือแย้งกับประกาศเชิญชวนฯ ของ รฟม. “ข้อ 3 เรื่องคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ”
บีทีเอสจ่อหาช่องฟ้องเพิ่ม
ด้าน นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ได้เปิดเผยตัวเลขการยื่นข้อเสนอด้านผลตอบแทนและการลงทุนของบริษัทที่เข้าร่วมการประมูลโครงการสายสีส้มรอบแรก ที่บริษัทขอรับเงินสนับสนุนสุทธิ จาก รฟม. เป็นมูลค่าณปีปัจจุบัน 9,600 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีที่สุด
ใกล้เคียงข้อเท็จจริงการลงทุนมากที่สุด หากไม่ล้มประมูลเสียก่อน บริษัทน่าจะชนะการประมูลในขณะการประมูลรอบที่สอง เอกชนที่ชนะประมูล ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิ จาก รฟม. เป็นมูลค่า ณ ปีปัจจุบันมากถึง 78,287.95 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่างกันทำให้รัฐเสียประโยชน์ และเชื่อได้ว่าตัวเลขครั้งนี้น่าจะไม่ต่างจากข้อเสนอประมูลรอบแรก
อย่างไรก็ตาม บริษัทจะยื่นต่อศาลพิจารณาหรือไม่นั้น เบื้องต้นบริษัทจะต้องปรึกษาร่วมกับทนายและทีมกฎหมายอีกครั้งว่าสามารถดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไรบ้าง แต่หลังจากนี้บริษัทจะทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยว ข้อง ในการเปิดเผยตัวเลขข้อเสนอด้านผลตอบแทนและการลงทุนในเอกสารการประกวดราคาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบแรก เพื่อให้ทุกหน่วยงานพิจารณาวิเคราะห์ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ยกเลิกประมูล
นายสุรพงษ์กล่าวต่อว่า บริษัท เล็งเห็นว่าการประมูลรอบนี้ควรยกเลิก เพราะเป็นการประมูลที่มีความไม่ชอบมาพากลตั้งแต่การเปลี่ยนหลักเกณฑ์ใหม่และการยกเลิกการประมูล ซึ่งถือเป็นการกีดกันการแข่งขัน ทำให้ภาครัฐเสียประโยชน์ ขณะเดียวกันเมื่อเห็นการเสนอผลประโยชน์ของเอกชนที่ยื่นประมูลโครงการฯในรอบนี้
รู้สึกเสียดายงบประมาณที่สูญเสียเพิ่มขึ้น บริษัทได้ดำเนินการธุรกิจรถไฟฟ้ามาหลายสายแล้ว ซึ่งเป็นบริษัทที่พยายามทำให้ดีที่สุด ที่ผ่านมาบริษัทได้ดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ ที่หนึ่งของโลกในโหมดการขนส่งระบบราง แสดงว่าเขาเชื่อมั่นบริษัทในทุกๆ ด้าน เช่น คุณภาพ,ความยั่งยืนและธรรมาภิบาล สิ่งที่บริษัทเสนอไปเชื่อว่าทำได้ดี
เข็นเปิดทุกซองรอบแรก
นอกจากนี้ยังทำหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเปิดเผยข้อมูลซองข้อเสนอประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รอบแรกทั้งหมด เช่นเดียวกับบริษัทที่เปิดไปแล้ว เพื่อสะท้อนข้อเท็จจริง และเพื่อปกป้องผลประโยชน์ชาติ
สำหรับรายละเอียดข้อเสนอของบริษัท ขอรับเงินสนับสนุนด้านงานโยธา รวมวงเงิน 90,254 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้างงานโยธา 87,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้าง 3,254 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV)อยู่ที่ 79,820 ล้านบาท ทั้งนี้เมื่อโครงการเปิดให้บริการ ทางบริษัทจะแบ่งรายได้ให้กับรฟม.ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี อยู่ที่ 134,300 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) อยู่ที่ 70,144 ล้านบาท
เมื่อคำนวณแล้วพบว่าบริษัทเสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -9,600 ล้านบาท (ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิเป็นมูลค่าณปีปัจจุบัน วงเงิน 9,600 ล้านบาท) ซึ่งเป็นเงินตอบแทนที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะให้แก่ รฟม. หักลบด้วยจำนวนเงินสนับสนุนค่างานโยธาที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะขอรับจาก รฟม.
หากเทียบกับเอกชนผู้รับเหมาที่เข้าร่วมประมูลในปัจจุบันอีก 2 ราย ที่เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน : NPV) เท่ากับ-78,287.95 ล้านบาท (ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิเป็นมูลค่าณปีปัจจุบัน 78,287.95 ล้านบาท) ขณะที่เอกชนอีก 1 ราย
เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -102,635.66 ล้านบาท (ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิเป็นมูลค่าณ ปีปัจจุบัน 102,635.66 ล้านบาท) ถือมีความแตกต่างกันถึง 90,000 ล้านบาท สำหรับ รฟม. ที่พิจารณาเห็นว่าเอกชนรายนั้นให้ข้อเสนอดีที่สุดแล้ว
ส่วนกรณีที่ข้อเสนอด้านผลตอบแทนและการลงทุนมีความแตกต่างกับเอกชนที่ยื่นข้อเสนอในการประมูลโครงการฯในรอบนี้จะส่งผลให้ประเทศเสียโอกาสหรือไม่นั้น ปัจจุบันบริษัทได้รับทราบว่าเอกชนที่ยื่นเกณฑ์ข้อเสนอดีที่สุดขอให้ รฟม. สนับสนุนงบอยู่ที่ 78,000 ล้านบาท แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดด้านใน
แต่ตามหลักการแล้วการประมูลจะพิจารณาจากมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) อยู่แล้ว หากวันนั้นในการประมูลรอบแรกมีการเปิดซองข้อเสนอของบริษัทพร้อมกับเอกชนที่เข้าเสนอประมูลรายอื่นๆ จะทำให้รัฐได้ประโยชน์ในอัตราผลตอบแทนเท่านี้ โดยที่รัฐไม่ต้องเสียเวลาในการเดินรถของโครงการฯ 2 ปี ซึ่งจะขอรับอุดหนุนงบประมาณจากภาครัฐเพียง 9,600 ล้านบาท
นอกจากนี้การประมูลโครงการฯในรอบนี้มีการกำหนดคุณสมบัติด้านงานโยธา 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1.อุโมงค์,สถานี,การติดตั้งระบบรถไฟฟ้า ซึ่งทั้ง 3 เกณฑ์ต้องมีคุณสมบัติร่วมกับรัฐบาลไทย ซึ่งมีผู้รับเหมาเพียงไม่กี่รายเข้ายื่นประมูลในรอบนี้ ท้ายที่สุดที่สามารถยื่นประมูลได้เหลือเพียง 1 ราย คือ บริษัทที่ได้ข้อเสนอดีที่สุด ส่วนอีก 1 ราย คือ ITD น่าจะไม่ผ่านคุณสมบัติ
เนื่องจากติดปัญหาเรื่องกรรมการของบริษัท ทั้งนี้ตามหลักการของพ.ร.บ.ร่วมทุนปี 62 (PPP) มีการเปิดกว้าง โดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ระบุชัดเจนว่า จะต้องเป็นการประมูล International Bidding ซึ่งควรเป็นการเปิดกว้างในการประมูลให้กับบริษัทต่างชาติร่วมลงทุนได้ แต่หลักเกณฑ์ดังกล่าวระบุว่า ผู้รับเหมาต้องมีประสบการณ์ด้านงานโยธาเฉพาะในประเทศเท่านั้น ซึ่งชัดเจนแล้วที่มีผู้ยื่นได้เพียงรายเดียวเท่านั้น