กรณีบริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด และบริษัท ไทยอุดรธานี เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.คำบง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานีโดนคำสั่งให้ปิดกิจการวันนี้ (15 ม.ค. 68) เมื่อเวลาประมาณ 17.13 น.จากกระทรวงอุตสาหกรรม
หลังน้ำตาลไทยอุดรธานีมีการรับอ้อยเผาเข้าหีบสะสมสูงสุดจากโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 58 โรงงาน คิดเป็น 43.11% ของปริมาณอ้อยทั้งหมด หรือกว่า 4.1 แสนตัน เทียบเท่าการเผาป่ากว่า 4.1 หมื่นไร่
ขณะที่ไทยอุดรธานี เพาเวอร์ จำกัด ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำส่งให้กับโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี ฝ่าฝืนกฎหมายความปลอดภัย มีการประกอบกิจการในสภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงถึงชีวิตและทรัพย์สินของพนักงานและประชาชนที่อยู่อาศัยใกล้เคียงกับโรงงาน
อีกทั้งยังมีการประกอบกิจการที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ความเสียหายหรือความเดือดร้อนแก่พนักงานหรือทรัพย์สินที่อยู่ในโรงงานหรือที่อยู่อาศัยใกล้เคียงกับโรงงานในหลายประเด็น
เช่น มีการจัดเก็บหรือการดำเนินการเกี่ยวกับสารเคมี วัตถุอันตราย และกากอุตสาหกรรมที่ใช้และเกิดจากกระบวนการผลิตของโรงงานที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ตู้ควบคุมไฟฟ้าอยู่ในสภาพชำรุดอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งระบบดับเพลิงที่ไม่พร้อมใช้งานในหลายจุด จึงถูกสั่งปิดในที่สุด
หลังจากที่ “ฐานเศรษฐกิจ” มีการนำเสนอข่าวดังกล่าวออกไป พบว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และเกิดคำถามว่าทั้ง 2 บริษัทใครเป็นเจ้าของ และมีที่มาที่ไปในการประกอบธุรกิจอย่างไร
ฐานเศรษฐกิจตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนและงบการเงินของ 2 บริษัทผ่านระบบ Creden Data ผู้ให้บริการข้อมูลด้านนิติบุคคลที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า
บริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 ด้วยทุนจดทะเบียน 2,256 ล้านบาท โดยมีผู้ถือหุ้นหลักคือตระกูลว่องวัฒนะสิน ประกอบด้วย นางสาวกนกวรรณ นายบัณฑิต นางอุมาพร และนายเจษฎา ถือหุ้นรายละ 20% ส่วนนายนพพร ถือหุ้น 19.99% คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 2,236 ล้านบาท
ปัจจุบันบริษัทมีคณะกรรมการ 10 คน นำโดยทายาทตระกูลว่องวัฒนะสิน 5 คน ร่วมด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 5 คน ได้แก่ นายพินิจ จารุสมบัติ นายอนุพันธ์ กิจนิจชีวะ นางสาวเพ็ญศรี สุธีรศานต์ นางพิมพ์พนา ศรีสวัสดิ์ และนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์
งบการเงิน บริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด ณ ปี 2566 มีสินทรัพย์รวม 6,923.3 ล้านบาท หนี้สินรวม 4,687.2 ล้านบาท ผลการดำเนินงานปี 2566 มีรายได้รวม 5,814.9 ล้านบาท รายจ่ายรวม 5,039.2 ล้านบาท กำไรสุทธิ 512.5 ล้านบาท
ปัจจุบัน บริษัทได้ขยายการลงทุนในธุรกิจน้ำตาลและพลังงานผ่านการถือหุ้นในบริษัทย่อย 7 แห่ง ได้แก่ น้ำตาลไทยเซลลูโลส, ไทยอุดรธานี เพาเวอร์, น้ำตาลไทยเอทานอล, น้ำตาลทรายแดงไทยท่าเรือ, น้ำตาลไทยบึงกาฬ, ค้าผลผลิตน้ำตาล และไทยชูการ์มิลเลอร์ รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 1,608 ล้านบาท
ขณะที่บริษัท ไทยอุดรธานี เพาเวอร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2554 ด้วยทุนจดทะเบียน 445 ล้านบาท โดยมีบริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 100% หรือ 4,449,995 หุ้น มูลค่า 752.74 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการถือหุ้นรายย่อยโดยตระกูลว่องวัฒนะสิน ได้แก่ นางสาวกนกวรรณ นายนพพร นายบัณฑิต นางอุมาพร และนายเจษฎา ว่องวัฒนะสิน รายละ 1 หุ้น
โดยบริษัทมีคณะกรรมการ 4 คน ประกอบด้วย นางสาวกนกวรรณ นายบัณฑิต นายนพพร และนายเจษฎา ว่องวัฒนะสิน ซึ่งเป็นผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในธุรกิจพลังงานและน้ำตาล
งบการเงินปี 2566 มีสินทรัพย์รวม 1,837.9 ล้านบาท หนี้สินรวม 1,085.16 ล้านบาท ผลการดำเนินงานในปี 2566 มีรายได้รวม 503.92 ล้านบาท รายจ่ายรวม 332.6 ล้านบาท กำไรสุทธิ 109.66 ล้านบาท
บริษัท ไทยอุดรธานี เพาเวอร์ จำกัด ถือหุ้น 5 บริษัทหลัก รวมมูลค่าการถือหุ้นบริษัทหลักและย่อย 254,815,149 บาท ได้แก่ ทีเอสเอ็ม ไบโอ เอนเนอร์ยี, ไทยกาญจนบุรี เพาเวอร์, ทีเอสเอ็ม ไบโอ เอนเนอร์ยี (2012), ไทยกาญจนบุรี เพาเวอร์ 2 และไทยบึงกาฬ เพาเวอร์
บริษัท ไทยอุดรธานี เพาเวอร์ จำกัด และบริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด มีสินทรัพย์รวมกันกว่า 8,761.2 ล้านบาท