นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการทุกกระทรวงให้ไปดูในส่วนที่รับผิดช่วยเหลือเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 ที่ผ่านมา ทั้งหน่วยงานที่ดูแลหน้างาน การพิสูจน์เชิงวิศวกรรม และการเยียวยา โดยรัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหาย ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณา
“ส่วนของกระทรวงการคลังนั้น อยู่ในการดูแลเยียวยา กระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด ซึ่งยอมรับว่า การเยียวยานั้น จะเป็นดำเนินการช้ากว่าส่วนอี่นๆ เมื่อเทียบกับการตรวจสอบตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ถล่ม นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ตรวจสอบ และเร่งรัดให้เร็วที่สุด”
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สถาบันการเงินของรัฐทั้ง 8 แห่ง ได้ออกมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบแล้ว ขณะเดียวกัน หน่วยงานอื่นๆ ก็กำลังจะมีมาตรการออกมา เช่น กรมธนารักษ์ เร็วๆ นี้จะออกมาตรการยกเว้นค่าเช่าที่ราชพัสดุ สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และเร็วๆ นี้ จะมีมาตรการภาคอสังหาริมทรัพย์ออกมา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
ทั้งนี้ ยืนยันว่า กระทรวงการคลังมีเงินงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจพอสมควร สามารถรองรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ โดยมีวงเงินที่กันไว้เหลืออยู่ 1.5 แสนล้านบาท โดยมาตรการด้านสินเชื่อ การกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ และโครงการแจกเงินดิจิทัล อยู่ในกระบวนการดำเนินงานของรัฐบาล
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า การประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวนั้น เราจะต้องค่อยๆ ติดตามสถานการณ์ว่าจะมีความชัดเจนอย่างไร โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสภาพัฒน์ อยู่ระหว่างประเมินผลกระทบ ส่วนจะสูงถึง 2-3 หมื่นล้านบาท ตามที่ภาคเอกชนประเมินไว้หรือมนั้น จะต้องรอติดตามอีกครั้ง เพราะขึ้นอยู่กับการเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนกลับมา
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะเร่งสร้างความเชื่อมั่น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และภาคอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการจัดการของรัฐบาล การควบคุมสถานการณ์ และการพิสูจน์เชิงวิศวกรรม เพราะความเชื่อมั่นเป็นสิ่งที่สำคัญ จากการตรวจสอบพบว่ามีเพียงตึกเดียวที่มีปัญหา ส่วนตึกอื่นๆ ได้รับการพิสูจน์ทางวิศกรรมแล้วว่าไม่ได้มีปัญหา
“ความเสียหายทางเศรษฐกิจจะต้องมีการประเมินในรายละเอียดต่อไป โดยเฉพาะความกังวลในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นคอนโดสูง เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าตรงนี้จะมีความกังวลขึ้น แต่เราต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น ในข้อเท็จจริงเชิงวิศวกรรม ซึ่งกระทรวงการคลัง และรัฐบาลพร้อมจะมีมาตรการเข้าไปรองรับ และการกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละช่วง”
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ภาพรวมผลกระทบระยะสั้นมีแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องความเชื่อมั่น และจิตใจ โดยเป็นเรื่องที่ภาครัฐ และหน่วยงานที่ตรวจสอบต้องเร่งดำเนินการ ทั้งนี้ ในทางเศรษฐกิจจะมีผลกระทบเรื่องการจับจ่ายใช้สอยที่ลดลง รวมถึงการเดินห้าง โดยเฉพาะตึกใหญ่ ฉะนั้น การบริโภคจะลดลง แต่ไม่มีผลต่อระยะกลาง และระยะยาว
“ประเทศไทยเราเจอแผ่นดินไหวใหญ่ครั้งแรก ตึกเสียหายไป 1 ตึก แต่อีก 99.9% ไม่มีปัญหาอะไร และมีตึกที่ต้องตรวจและต้องพักการใช้อีกส่วนหนึ่ง แต่ไม่มีปัญหาอะไร ถือว่าประเทศไทยมีการก่อสร้างที่คุณภาพ ส่วนตึกที่มีปัญหา นายกฯ ได้ส่งการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบแล้ว”
ทั้งนี้ ยอมรับว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจะเป็นเรื่องคอนโด แต่อุปสงค์จะไปโผล่ที่อื่น เช่น ความต้องการซื้อคอนโดอาจจะลดลงบ้าง แต่จะไปซื้อบ้านหลังแทน รวมถึงการลงทุน อนาคตการก่อสร้างจะต้องเพิ่มโครงสร้างที่มีคุณภาพ ซึ่งจะมีเม็ดเงินที่ลงทุนเพิ่มเข้าไป ฉะนั้น ผลกระทบในระยะยาวจะไม่ถาวร จะปรับตัวไปตามดีมานด์และซัพพลาย
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า นายกฯ ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังศึกษาการเยียวยาประชาชนในมิติต่างๆ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทั้งนี้ จะต้องรอหน่วยงานต้นทาง เช่น กระทรวงมหาดไทยจะต้องเรื่องมาให้เรา โดยการเยียวยามี 2 มิติ ได้แก่ การเยียวยาประชาชน และการเยียวยาด้านอาคาร
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เร็วๆ นี้ กระทรวงการคลังเตรียมเสนอครม. อนุมัติมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ เพื่อลดผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ผ่านการผ่อนเกณฑ์ LTV (Loan to Value) ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ซึ่งการออกมาตรการในช่วงสถานการณ์โควิด ได้รับการยอมรับแล้วว่า 2 มาตรการดังกล่าว เมื่อดำเนินการพร้อมกันมีประสิทธิภาพสูง