thansettakij
"ทรัมป์" จัดหนักภาษีไทย 36% กูรูเตือนเศรษฐกิจไทยอ่วม ถ้าไม่เร่งแก้เกม

"ทรัมป์" จัดหนักภาษีไทย 36% กูรูเตือนเศรษฐกิจไทยอ่วม ถ้าไม่เร่งแก้เกม

03 เม.ย. 2568 | 08:58 น.
อัปเดตล่าสุด :03 เม.ย. 2568 | 09:03 น.

"โดนัลด์ ทรัมป์" กดดันไทย ขึ้นภาษี 36% ส่งออกสะเทือน นักวิเคราะห์แนะทางรอด เร่งเจรจาเปิดตลาดต่อสหรัฐฯ-หาพันธมิตรใหม่-ลดดุลการค้าจีน

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากประเด็นที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศมาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าพื้นฐาน 10% สำหรับสินค้าทุกประเภทที่นำเข้ามายังสหรัฐอเมริกา และจะเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นกับประเทศคู่ค้ารายใหญ่อีกกว่า 10 ประเทศนั้น

ประเทศไทยติดหนึ่งใน 15 ประเทศเป้าหมายในครั้งนี้ ซึ่งโดนจัดเพิ่มหนักๆ 36% สาเหตุที่โดนหนัก "ทรัมป์" อ้างว่าเพราะไทยมีการจัดเก็บภาษีจากสหรัฐฯ จำนวนมากถึง 72% โดยที่ไม่รู้ว่าอ้างอิงจากสินค้าตัวใด แต่เชื่อได้ว่าไม่ใช่ทุกประเภท และคาดว่าน่าจะเป็นสินค้าที่ไทยต้องปกป้องอุตสาหกรรมหรือการเกษตรบางอย่างในประเทศ

จากมุมมองส่วนตัวมองว่าก็มีความเป็นไปได้ว่า 36% นั้นอาจคิดมาจากการที่ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ราว 3.54 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ทั้งหมด 4.87 หมื่นล้านดอลลาร์ เอาที่เกินดุลหารด้วยส่งออกจะได้ค่าออกมา 72.7%

ทีนี้ "ทรัมป์" เล่นง่ายเลยในเมื่อเกินด้วยอัตราส่วน 72.7% ดังนั้นแล้วจึงเก็บภาษีจากประเทศไทยเพิ่มครึ่งนึง คือ 36% ซึ่งด้วยวิธีคิดเช่นนี้ก็ปรากฎว่าตรงกับที่ประเทศอื่นๆ ก็โดนเก็บภาษีเพิ่มเช่นกัน แน่นอนว่าปัจจัยดังกล่าวจะผลกระทบต่อ GDP ไทยต้องหนักแน่

จากเดิมที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่า หากไทยโดนอัตราการเก็บภาษีที่ระดับ 15% จะกระทบกับ GDP ราว 1.5% จุดนี้ที่ว่าหนักแล้ว แต่ต้องเจอการเก็บภาษีที่สูงขึ้นถึง 36% ผลกระแทบยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ แต่เชื่อว่าคงไม่ถึงเกิน 2% หรือถึงขั้นกระทบรุนแรง 3.6% ตามบัญญัติไตรยางศ์ 

"ด้วยทรัมป์จัดเก็บภาษีหนักแบบตอบโต้ถ้วนหน้า คือเกือบทุกประเทศโดนหมด การแข่งขันด้านราคาของแต่ละประเทศจึงไม่น่ารุนแรงมากไปกว่าเดิมเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ คือมูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปสหรัฐต้องลดลง เพราะราคาสินค้าบวกภาษีที่สูง หนึ่งกำลังซื้อในสหรัฐฯ จะลดลง และสองสินค้าที่ไทยส่งออกจะถูกทดแทนด้วยสินค้าที่ผลิตในสหรัฐเอง"

สิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งทำจากนี้ คือ เจรจา เพราะตลาดสหรัฐเป็นตลาดการส่งออกสินค้าที่ใหญ่สุดของไทยในปี 2567 ซึ่งไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ มูลค่ากว่า 5.49 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 18.3% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และไทยเกินดุลกรค้ากับสหรัฐฯ มากกว่า 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์

มองว่าการไปคิดสู้และทำการตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสวนกับสหรัฐฯ ในแบบที่ประเทศจีนหรืออียูกำลังจะทำจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เพราะมองเห็นแล้วว่า "สู้ไปยิ่งตายเปล่า" ดังนั้นแล้วเห็นควรว่าจากนี้ไทยต้องยอมเปิดตลาดการค้าของตัวเองต่อสหรัฐฯ ให้มากขึ้น ทั้งสินค้าเกษตร เช่น หมูเนื้อแดง, สินค้าอุตสาหกรรมหนัก อาทิ เครื่องจักร และอาวุธสงคราม

รวมไปถึงการเปิดเสรีด้านต่างๆ ตลอดจนการร่วมเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความมั่นคงทางทหาร ที่ต้องมีมากขึ้น จะวางตัวเป็นกลางรอเก็บกินผลอย่างแต่ก่อนไม่ได้อีกแล้ว อย่างไรก็ดี รัฐบาลเองก็ต้องชั่งน้ำหนักทั้งผลกระทบได้และเสียให้ดี 

นอกเหนือจากนี้แล้ว ประเทศไทยยังต้องเร่งแสวงหาเพื่อนร่วมปัญหา เพื่อเจรจาเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างไทยและประเทศคู่ค้าอื่นๆ เพื่อชดเชยตลาดสหรัฐที่กำลังจะหดตัวร่วมด้วย รวมถึงเร่งลดการขาดดุลการค้ากับจีนให้ได้ กำแพงภาษีระหว่างไทยกับจีนต้องมีมากขึ้น เพราะจากนี้ไทยจะเกินดุลการค้าสหรัฐฯ น้อยลง

เนื่องจากที่ผ่านมาไทยได้การเกินดุลจากสหรัฐฯ มาช่วยชดเชยกับที่ขาดดุลจากจีน และหากไม่ลดการขาดดุลการค้ากับจีนลงมาในวันนี้ อนาคตก็เตรียมขาดดุลมโหฬาร และไทยจะเข้าสู่สภาวะล้มละลายเหมือนอย่างที่หลายประเทศที่พึ่งพาจีนกันเป็นหลักได้เจอกันมา

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ประชาชนในสหรัฐฯ ต้องเป็นฝ่ายได้รับกระทบ จากการเจอช็อคเวฟ ราคาสินค้านำเข้าทั้งหมดจะพุ่งสูงขึ้น ขณะที่การผลิตในสหรัฐฯ ยังไม่สามารถผลิตทดแทนได้ทัน เงินเฟ้อจะทะยานสวนทางกับกำลังซื้อที่หดตัวอย่างรวดเร็ว

แม้เกมนี้ทรัมป์บอกจะแก้ด้วยการลดภาษีในประเทศครั้งใหญ่ แต่คลื่นของราคาสินค้านำเข้าแพง ย่อมสร้างความปั่นป่วนแน่นอน ดังนั้น สหรัฐจะต้องมีการผ่อนปรนมาตรการภาษีเกิดขึ้นแน่ แต่จะเกิดขึ้นกับประเทศไหน อย่างไร ทุกอย่างก็อยู่ที่การเจรจาต่อรอง

เสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย

นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) กล่าวว่า กรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการขึ้นภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากหลายประเทศเมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมา นับเป็นมาตรการที่เข้มงวดที่สุดในรอบกว่า 100 ปี เพื่อปกป้องเศรษฐกิจและลดขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ

ส่งผลให้เกือบ 60 ประเทศเผชิญกับอัตราภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายน ยกเว้นสินค้าบางประเภท เช่น พลังงาน เซมิคอนดักเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยา และทอง ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ถูกตอบโต้โดยตรงก็เผชิญอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้น 10% โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 เม.ย. 68 นี้

จากอัตราภาษีศุลกากรที่ปรับเพิ่มขึ้นมากนี้ โดยเฉพาะ Reciprocal Tariffs ทำให้มองว่าจะส่งผลให้อัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยที่สหรัฐฯ จัดเก็บกับคู่ค้าปรับขึ้นราว 14 จุด (Percentage Point (ppt)) และหากรวมกับการตั้งภาษีนำเข้ายานยนต์ อัตราภาษีเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นราว 16 จุด

โดยก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เคยประเมินว่า ทุก 1 จุดที่อัตราภาษีเฉลี่ยปรับขึ้น จะกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจราว -0.14 จุด ดังนั้น หากมีการปรับขึ้นอัตราภาษีตามที่ประกาศนี้ จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงชัดเจน และมีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession Risks) เพิ่มขึ้นมาก

ในแง่ของผลกระทบต่อตลาดเงิน การขึ้นภาษีดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (Bond Yield) ระยะ 10 ปี ปรับลดลงต่ำกว่า 4.1% ขณะเดียวกัน Fed Funds Futures มอง Fed จะลดดอกเบี้ยมากขึ้นเป็น -3.2 ครั้ง หรือลดลง 0.81% ในปีนี้

ขณะที่ตลาดซื้อขายล่วงหน้า ดัชนีหุ้นหลักของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงหนัก โดย Dow Jones ลดลง 1.9%, S&P500 ลดลง 2.7%, และ Nasdaq ลดลงกว่า 3.3% ส่วนราคาน้ำมันดิบ WTI ลดลงต่ำกว่า 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สะท้อนภาวะเสี่ยงสูง (Risk-off) เป็นวงกว้าง ด้านราคาทองคำยังทรงตัวอยู่ใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3,150 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์

“มองว่า Sentiment ลบในภาพรวมมีแนวโน้มดำเนินต่อไปจนกว่าจะเห็นแนวโน้มการเจรจาผ่อนผันข้อบังคับระหว่างประเทศมากขึ้น ด้าน Sector ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มองว่าเผชิญแรงกดดันหนักจะเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศสูงที่เสี่ยงต่อการถูกโต้ตอบกลับ อาทิ วัสดุอุตสาหกรรม, เทคโนโลยี และ การสื่อสาร” นายคมศร กล่าว

ด้านผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย จากอัตราภาษีตอบโต้ที่สหรัฐฯ ประกาศกับไทยที่ 36% ประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมากที่ราว 1.35 จุด จากปัจจุบันที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.8% เหลือเพียง 1.45% โดยยังไม่นับรวมผลของมาตรการที่รัฐบาลจำเป็นต้องบังคับใช้เพื่อประโยชน์ต่อการเจรจาต่อรอง เช่น

  1. การลดการกีดกันทางการค้า (Non-tariff Barrier) และเปิดเสรีให้กับสินค้าเกษตรสหรัฐฯ มากขึ้น
  2. การเพิ่มโควต้านำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ของหลายประเทศ อาจส่งผลให้สินค้าไทยที่คล้ายคลึงกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรถูกลดการนำเข้าจากตลาดในต่างประเทศลง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบทางอ้อมที่อาจเกิดขึ้น และส่งผลกับเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า อาทิ แนวโน้มการลงทุนจากต่างชาติที่อาจลดลง เนื่องจากอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ทำให้การตัดสินใจโยกย้ายฐานการผลิตทำได้ยากมากยิ่งขึ้น
 
และประเด็นสุดท้าย มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้ง รวม 0.50% ในการประชุมรอบที่ 2/2568 ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนเม.ย. นี้ 1 ครั้ง และอีก 1 ครั้งในช่วงครึ่งหลัง ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอาจลดลงเหลือ 1.50% ภายในสิ้นปีนี้

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจจีน จากอัตราภาษี Reciprocal Tariff ที่ 34% บวกอัตราภาษีเดิมที่ 20% ทำให้จีนต้องเผชิญอัตราภาษีรวมกว่า 54% ซึ่งคาดว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจจีนราว 1.5-2.0 จุด ทั้งจากผลกระทบทางตรงผ่านช่องทางการส่งออก และผลกระทบทางอ้อมผ่านความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น ตลอดจนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภคที่มีแนวโน้มลดลง และอาจจะกระทบต่อการลงทุนในประเทศของภาคธุรกิจในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตาม คาดว่ารัฐบาลจีนจะมีมาตรการบรรเทาผลกระทบผ่านการใช้นโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น รวมถึงอาจมีมาตรการตอบโต้ต่อสหรัฐฯ ผ่านทั้งมาตรการด้านภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff measures) เช่น การควบคุมการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังสหรัฐฯ การดำเนินการกับบริษัทสหรัฐฯ หรือการจำกัดการลงทุนของบริษัทจีนในสหรัฐฯ เป็นต้น