ซิน เคอ หยวนแลกหมัดกระทรวงอุตฯ ปมเหล็กตึก สตง. ถล่มไม่ได้มาตรฐาน

08 เม.ย. 2568 | 01:09 น.

ซิน เคอ หยวนเตรียมออกโรงตอบโต้กระทรวงอุตสาหกรรมปมเหล็กตึก สตง. ถล่มไม่ได้มาตรฐาน หลังมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหล็กไม่ได้มาตรฐานในการก่อสร้าง

ตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา จนทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นนวนมาก โดยเป็นอาคารแห่งเดียวในประเทศไทยที่พังทลายลงมา ได้กลายเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามถึงมาตรฐานในการก่อสร้าง ทั้งเรื่องของการอกแบบ และวัสดุที่ใช้

ทั้งนี้ ภายหลังจากเหตุการณ์ตึก สตง. ถล่ม กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการเข้าเก็บตัวอย่างเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างมาตรวจสอบคุณภาพ ที่สถาบันเหล็ก และเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย  เพื่อตรวจสอบว่าเป็นไปตามคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หรือไม่ โดยใช้เวลาการตรวจสอบเหล็กทุกท่อนมากกว่า 4 ชั่วโมงว่า 

โดยเหล็กที่นำมาตรวจสอบ 28 ท่อน 7 ไซส์ ได้มาตรฐาน 15 ท่อน 5 ไซส์ ไม่ได้มาตรฐาน 13 ท่อน 2 ไซส์ คือ ไซส์ 20 มิลลิเมตร และ 32 มิลลิเมตร ซึ่งทั้ง 2 ไซส์ มาจากบริษัทเดียวกัน ซึ่งเป็นบริษัทเหล็กแห่งหนึ่ง ที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้สั่งปิดไปในช่วงเดือนธ.ค. 67 เนื่องจากจำหน่ายเหล็กไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

สำหรับเหล็กเส้นที่เก็บมาจากที่เกิดเหตุ และนำมาตรวจสอบคุณภาพมีจำนวน 28 เส้น มีทั้งหมด 7 ไซส์ ประกอบด้วย 

ซิน เคอ หยวนแลกหมัดกระทรวงอุตฯ ปมเหล็กตึก สตง. ถล่มไม่ได้มาตรฐาน

  • เหล็กข้ออ้อย ขนาด 12 มม. จำนวน 3 เส้น  
  • เหล็กข้ออ้อย ขนาด 16 มม. จำนวน 3 เส้น 
  • เหล็กข้ออ้อย ขนาด 20 มม. จำนวน  6  เส้น  
  • เหล็กข้ออ้อย ขนาด 25 มม. จำนวน  2  เส้น 
  • เหล็กข้ออ้อย ขนาด 32 มม. จำนวน  7  เส้น 
  • เหล็กเส้นกลม ขนาด 9 มม. จำนวน 2  เส้น 
  • ลวดสลิง ขนาด 15.2 มม. จำนวน  5  เส้น 

โดยมาจาก 3 บริษัท คือ SKY (บริษัทซินเคอหยวน ซึ่งเป็นผู้ผลิตจากจีน) TATA (บริษัท ทาทา สตีล ผู้ผลิตจากอินเดีย) และ TYS ( เครือบริษัทไทยคูณ ผู้ผลิตจากจีนร่วมทุนกับไทย) 

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ภายหลังผลตรวจสอบคุณภาพเหล็กข้ออ้อยขนาด 20 และ 32 มิลลิเมตร ที่เก็บตัวอย่างมาจากตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) 

ซึ่งก่อนหน้านี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งปิดโรงงานของบริษัทฯ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 เนื่องจากบริษัทฯ ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายโรงงานในหลายประเด็น อีกทั้ง ยังมีการผลิตเหล็กที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มอก. อาจส่งผลกระทบสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน 

กระทรวงฯ จึงได้ทำการยึดอายัดเหล็กทั้งหมดไว้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2568 จำนวน 2,441 ตัน มูลค่ากว่า 49.2 ล้านบาท พร้อมเรียกคืนเหล็กจากท้องตลาดที่ผลิตจากบริษัทฯ คืนทั้งหมด และได้ดำเนินคดีกับบริษัทฯ อย่างถึงที่สุด

การลงพื้นที่ดังกล่าวมีตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ร่วมตรวจสอบในประเด็น ดังนี้

  • โรงงานมีการลักลอบประกอบกิจการภายหลังจากการสั่งปิดหรือไม่-จากการตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าในโรงงาน พบว่า ก่อนที่บริษัทฯ จะถูกสั่งปิดเมื่อเดือนธันวาคม 2567 มีการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยเดือนละ 150 ล้านบาท ภายหลังจากการสั่งปิด มีการใช้ไฟฟ้าในเดือนมกราคม 2568 ค่าไฟ 1.2 ล้านบาท เดือนกุมภาพันธ์ 2568 ค่าไฟ 6.4 แสนบาท โดยเดือนในเดือนมีนาคม 2568 ค่าไฟขยับขึ้นมาเป็น 6.4 ล้านบาท ซึ่งต้องตรวจสอบต่อไปว่าบริษัทฯ มีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นด้วยเหตุผลประการใด
  • โรงงานมีการลักลอบเคลื่อนย้ายเหล็กที่ถูกยึดอายัดไว้เป็นของกลางหรือไม่-ผลจากกการตรวจสอบพบว่า เหล็กของกลางที่เจ้าหน้าที่ได้ทำการยึดอายัดไว้ยังอยู่ครบถ้วน ไม่มีการเคลื่อนย้าย ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่ายังไม่มีการลักลอบจำหน่ายเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานออกไป

ซิน เคอ หยวนแลกหมัดกระทรวงอุตฯ ปมเหล็กตึก สตง. ถล่มไม่ได้มาตรฐาน  

  • เจ้าหน้าที่ได้ทำการเก็บตัวอย่างเหล็กจากบริษัทฯ นำกลับมาตรวจสอบเพิ่มเติม เพื่อตรวจเช็คว่าเป็นเหล็กในล็อตใดบ้าง ถูกจำหน่ายออกจากบริษัทไปเมื่อไร ซึ่งในส่วนนี้ได้สั่งการให้บริษัทฯ ทำหนังสือชี้แจงการจำหน่ายเหล็กทั้ง 2 ขนาดที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ส่งกลับมาภายใน 7 วัน

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบการลักลอบจัดเก็บฝุ่นแดงซึ่งเป็นวัตถุอันตราย ไว้ภายในบริเวณโรงงานเป็นจำนวนมากกว่า 43,000 ตัน โดยที่บริษัทฯ แจ้งการกักเก็บฝุ่นแดงที่เกิดจากเตาหลอมเหล็กก่อนถูกสั่งปิด เพียงปีละ 2,245 ตันเท่านั้น อีกทั้งในปี 2567 บริษัทฯ ไม่มีการแจ้งหรือรายงานการกักเก็บฝุ่นแดงแต่อย่างใด 

กรณีดังกล่าวนี้กระทรวงฯ จึงได้สั่งการให้บริษัทฯ ชี้แจงภายใน 7 วัน หากมีการแจ้งข้อมูลเท็จจะต้องโดนโทษนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์ หากพบว่ามีการจัดการกับฝุ่นแดงดังกล่าวไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการและกฎหมาย มีการปนเปื้อนโลหะหนัก จะถูกเพิ่มข้อหาครอบครองวัตถุอันตรายและดำเนินคดีขั้นเด็ดขาดต่อไป

ซิน เคอ หยวนแลกหมัดกระทรวงอุตฯ ปมเหล็กตึก สตง. ถล่มไม่ได้มาตรฐาน

นอกจากนี้ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ได้ลงนามในหนังสือขอให้เพิกถอนสิทธิประโยชน์การลงทุน (BOI) บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด เนื่องจากพบว่าบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย พรบ.โรงงาน และ พรบ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 

โดยที่หนังสือแจ้งเตือนให้ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ครั้งแรกในวันที่ 27 ธันวาคม 2567 และครั้งที่สอง ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ยังมีผล เนื่องจากยังไม่มีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์แต่อย่างใด

โดยเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้มีหนังสือแจ้งไปถึงกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด เกี่ยวกับผลการตรวจติดตามระบบการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ มีเนื้อหาสรุปได้ว่า

ตามที่ สมอ. ได้ตรวจประเมินระบบควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ ภายหลังการอนุญาต ณ โรงงาน เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ปรากฏว่า ผลการตรวจสอบไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การตรวจสอบเพื่อการอนุญาต (ภาคผนวก ก) จึงมีหนังสือแจ้งเตือนก่อนสั่งพักใช้ใบอนุญาตตามมาตรา 40

ต่อมาบริษัทได้มีหนังสือนำส่งข้อมูลพร้อมหลักฐานการพิจารณาการแก้ไขข้อบกพร่อง และสมอ. ได้เข้าตรวจสอบการแก้ไขข้อบกพร่องของการตรวจประเมินระบบควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ ณ โรงงานอีกครั้ง เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2568 นั้น

สำนักงานฯ ขอแจ้งผลการตรวจระบบควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ของบริษัทซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด และขอยกเลิกหนังสือ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 ที่เตือนก่อนสั่งพักใบอนุญาตตามมาตรา 40 กรณีไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการออกใบอนุญาต จึงเรียนมาเพื่อทราบ

ล่าสุดนายเฉิน เจี้ยนฉี และ นายสมพัน ปันแก้ว กรรมการบริษัทซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ระบุว่า เตรียมตั้งโต๊ะแถลงข่าวในวันพุธ ที่ 9 เมษายน 2568 เวลา 14.00 น. โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานครเกี่ยวกับคุณภาพเหล็กเส้นของบริษัทที่ใช้ในการก่อสร้าง อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ถล่มลงมา หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา

ซิน เคอ หยวนแลกหมัดกระทรวงอุตฯ ปมเหล็กตึก สตง. ถล่มไม่ได้มาตรฐาน

“ตามที่ขณะนี้มีข่าวในเชิงลบและเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นของ บริษัท ซิน เคอ หยวนสตีล จำกัด ที่ผลิตขึ้นปราศจากมาตรฐาน อีกทั้งมีการตรวจสอบพบในการก่อสร้าง อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน แห่งใหม่ใกล้สวนจตุจักร กรุงเทพมหานคร การต่อมาเกิดเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวทำให้อาคารสูง 30 ชั้น ถล่ม ทางบริษัท ซิน เคอ หยวนสตีล จำกัด ใคร่ขอแถลงต่อสื่อมวลชนถึงข้อเท็จจริงทุกประการรวมทั้งมีความประสงค์จะขอสื่อสารไปยังประชาชนทั้งประเทศด้วยถึงเจตุจำนงที่จะประกอบกิจการโดยสุจริตยึดหลักธรรมาภิบาลอย่างมั่นคง”เอกสารระบุ

ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมก็เตรียมแถลงข้อเท็จจริงสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง เพื่อเคลียร์ชัดในข้อมูลหลายๆมุมอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีปัญหา และผลการดำเนินการก่อนหน้า ตั้งแต่ ธค. 67

ทั้งการพิสูจน์ความจริงอนาคต กรณีตึกถล่ม และมาตรการการสร้างความปลอดภัยกับวัสดุก่อสร้างให้ผู้ใช้ชาวไทย ระยะยาวต่อไป ที่กระทรวงอุตสาหกรรมยึดถือปฏิบัติ อย่างโปร่งใส ตามหลักการ ไม่เลือกปฏิบัติในวันที่ 10 เมษายน 2568 เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงอุตสาหกรรม