thansettakij
กางแผนรัฐบาลเจรจาสหรัฐฯ ต่อรองภาษีตอบโต้ทรัมป์ ผ่าน 4 ระดับ ภายใต้ 5 เสาหลัก

กางแผนรัฐบาลเจรจาสหรัฐฯ ต่อรองภาษีตอบโต้ทรัมป์ ผ่าน 4 ระดับ ภายใต้ 5 เสาหลัก

09 เม.ย. 2568 | 07:25 น.
อัปเดตล่าสุด :09 เม.ย. 2568 | 08:53 น.

รัฐบาลไทยวางแผนเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อต่อรองนโยบายภาษีของทรัมป์ ผ่านกลไก 4 ระดับ พร้อมกำหนด 5 เสาหลักความร่วมมือเพื่อสร้างสมดุลความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคี ภายใต้แนวคิด 'ไทยทำให้สหรัฐแข็งแกร่ง ปลอดภัย และเจริญรุ่งเรือง ได้อย่างไร’

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศมาตรการภาษีตอบโต้(Reciprocal Tariff) โดยจัดเก็บภาษีกับไทยในอัตรา 36% ล่าสุดรัฐบาลได้วางกลไกและกรอบแนวทาง การหารือกับสหรัฐฯ แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้

  • ระดับที่ 1 นายกรัฐมนตรี (หรือ ผู้แทนที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย)  เจรจากับ ประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ ของสหรัฐ
  • ระดับที่ 2 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เจรจากับ เจมสัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ(USTR) หรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เจรจากับ โฮเวิร์ด ลุตนิค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
  • ระดับที่ 3 เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี ซี เจรจากับ Forward Team (US based) 
  • ระดับที่ 4 จะมีการจัด Working Group ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

ขณะนี้ ไทยก็ได้รับการตอบรับจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ หรือ USTR ผ่านทางอีเมล์ที่ส่งมาให้นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเจรจาแล้วอยู่ระหว่างนัดวันเจรจา

โดยรัฐบาลจะให้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปเจรจาในรอบแรก เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ทั้ง กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)

ส่วนประเด็นการเจรจาช่วงแรกจะเป็นการหารือในภาพใหญ่ทางความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนในระดับมหภาคเพื่อ MAGA  How Thailand makes The USA Stronger - Safer -Prosper  หรือ ประเทศไทยทำให้สหรัฐอเมริกาแข็งแกร่ง ปลอดภัยขึ้น และเจริญรุ่งเรืองได้อย่างไร  ใน 5 เสาหลักในการสร้างสมดุลใหม่ให้กับความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคี ดังนี้

1. ความร่วมมือสหรัฐฯ-ไทย เพื่อนำไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจอาหารแปรรูปเพื่อตลาดโลก

2. เพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น

3. การเปิดตลาดสาขาเกษตรของไทย

4. การบังคับใช้กฎหมายป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าของไทยเพื่อการส่งออกอย่างเคร่งครัด  

5. ส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ มากขึ้น โดยจะมีการติดตามความเคลื่อนไหวสถานการณ์นโยบายการค้า  และมีหน่วยล่วงหน้าในการหารือแลกเปลี่ยนความเห็นกับสหรัฐฯ ภายใต้กรอบที่กำหนดโดยรัฐบาลสนับสนุนข้อมูลและผลักดันการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ