ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านไร้ทิศทาง หนุนราคาน้ำมัน WTI ปิดพุ่ง 1.15  ดอลล์

24 ส.ค. 2565 | 23:57 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ส.ค. 2565 | 06:58 น.

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปิดเมื่อ 24 ส.ค. พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ หลังมีสัญญาณบ่งชี้ว่าการรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน ตลาดยังได้แรงหนุนจากตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่ปรับตัวลดลงมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 1.15 ดอลลาร์ หรือ 1.2% ปิดที่ 94.89 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค.
         

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 1 ดอลลาร์ หรือ 1% ปิดที่ 101.22 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค.

         

สัญญาน้ำมันดิบได้รับปัจจัยหนุนจากรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ซึ่งระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 3.3 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 933,000 บาร์เรล
         

 

นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังปรับตัวขึ้นหลังมีรายงานว่า สหรัฐจะไม่พิจารณาข้อเรียกร้องเพิ่มเติมของอิหร่าน ในความพยายามที่จะรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้การบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์เป็นไปอย่างล่าช้าและอาจจะทำให้อิหร่านยังไม่สามารถส่งออกน้ำมันเข้าสู่ตลาดได้

 

ข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 หรือ แผนปฏิบัติการร่วมแบบเบ็ดเสร็จ (Joint Comprehensive Plan of Action) เป็นการตกลงกันระหว่างอิหร่านกับมหาอำนาจ 6 ชาติซึ่งได้แก่จีน, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, รัสเซีย, สหราชอาณาจักร และสหรัฐ เพื่อป้องกันไม่ให้อิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์โดยแลกกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐ, สหภาพยุโรป และสหประชาชาติ โดยข้อตกลงดังกล่าวจัดทำขึ้นในปี 2558 ในสมัยของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา
         

 

แต่ในเดือนพ.ค. 2561 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์สั่งถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงดังกล่าว และเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรขั้นสูงสุดด้วยการอ้างว่าอิหร่านละเมิดข้อตกลง และเมื่อมาถึงยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน รัฐบาลสหรัฐก็กำลังพยายามที่จะเจรจาเพื่อรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์อีกครั้ง โดยสหรัฐได้ส่งตัวแทนไปเจรจากับอิหร่านที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียและสหภาพยุโรปเป็นคนกลางนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2564 ซึ่งการเจรจามีความคืบหน้าบางส่วน โดยมีการจัดตั้งคณะทำงาน 2 ชุดเพื่อดูแลด้านนิวเคลียร์ และอีกชุดหนึ่งดูแลเรื่องการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร
         

อย่างไรก็ตาม สหรัฐและอิหร่านยังไม่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญของข้อตกลง โดยอิหร่านเรียกร้องให้สหรัฐยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดเสียก่อนเพื่อแสดงความจริงใจในการเจรจา ขณะที่สหรัฐโต้ตอบกลับว่าจะไม่ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร หากอิหร่านไม่หยุดการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม