“ค่าไฟแพง” แนะ“บิ๊กป้อม” ดันแผนพลังงานทดแทนระดับชาติ ช่วยเหลือประชาชน

05 ก.ย. 2565 | 04:04 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ย. 2565 | 11:11 น.

“มัลลิกา” เตรียมจดหมายถึง "บิ๊กป้อม" รักษาการนายกฯ ดันแผนพลังงานทดแทนระดับชาติ "ช่วยประชาชนยุคค่าไฟแพง" แก้ค่าไฟแพง

“ค่าไฟแพง” แนะ“บิ๊กป้อม” ดันแผนพลังงานทดแทนระดับชาติ ช่วยเหลือประชาชน

 

วันที่ 5 กันยายน 2565 ดร.มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าในสถานการณ์ที่ค่าน้ำมันค่าไฟฟ้าแพงขึ้นด้วยเหตุแห่งความจำเป็นอย่างไรก็ตามทางออกระดับประเทศคือ ผลักดันแผนพลังงานทดแทนให้ประชาชนและท้องถิ่นมีทางเลือก และแม้แต่ค่ายทหารที่ยังติดค้างค่าไฟฟ้ากระทรวงมหาดไทยอยู่นั้นก็จะได้มีทางเลือกด้วยเช่นกัน

 

"หมดยุคแล้วที่จะมัวสนับสนุนเฉพาะแผนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อาศัยการนำเข้าพลังงานที่ต้องพึ่งพาจมูกประเทศอื่นหายใจพอเกิดวิกฤติสถานการณ์โลกก็ส่งผลกระทบประชาชนไม่จบสิ้น จึงเตรียมรายละเอียดเสนอกำหนดทิศทางแผนพลังงานแห่งชาติด้วยนโยบายพลังงานทดแทนซึ่งเคยศึกษาและให้ข้อมูลไว้ที่กรรมาธิการพลังงานในช่วงยุคปี 2558-2559 และเคยนำเรียนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีช่วงนั้นในนามมูลนิธิมัลลิกาเพื่อประชาชน ดังนั้นไม่ว่านายกจะเป็นใครหรือรัฐบาลจะเป็นรัฐบาลใดหลังจากนี้ควรจะยึดแผนพลังงานทดแทนมาเป็นทางเลือกให้กับประเทศและประชาชนให้สำเร็จตามเป้าหมาย"

 

ดร.มัลลิกา ระบุว่า รัฐบาลควรเดินหน้านโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อให้การบริหารนโยบายแผนงานและมาตรการด้านพลังงานของประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ อำนาจหน้าที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดราคาพลังงานติดตามดูแลประสานงานสนับสนุนเร่งรัดทุกส่วน ทั้งราชการ รัฐวิสาหกิจ เอกชนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานให้เป็นไปตามแผนนโยบาย เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤติขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า พร้อมทั้งทำการประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายที่จะต้องปรับให้ทันสมัยสอดคล้องกับยุคคาร์บอนเครดิต-BCG เทรนด์ของโลก

 

"และจากแผนนโยบายพลังงานของไทยตามกรอบเวลาแผนชาติปี พ.ศ.2558 ถึง 2579 (PDP2015) และแผนฉบับปรับปรุงล่าสุด สาระสำคัญคือ การจัดทำแผนพลังงานชาติด้วยการกระจายสัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กำหนดกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศและกระจายแหล่งผลิตไฟฟ้า"

 

ดร.มัลลิกา กล่าวว่า แผนนี้ให้ใช้มาตรการผสมผสานทั้งการบังคับและสนับสนุนจูงใจการให้เอกชนเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการส่งเสริมและดำเนินการอนุรักษ์พลังงานการ ใช้มืออาชีพและบริษัทจัดการพลังงานเป็นกลไกสำคัญการเพิ่มการพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยีและเสริมสร้างธุรกิจผลิตสินค้าที่มีประสิทธิภาพพลังงานสูง โดยใช้ 5 กลยุทธ์คือการบังคับด้วยกฎระเบียบและมาตรฐาน,การส่งเสริมพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม,การพัฒนาสั่งการพัฒนากำลังคนและความสามารถเชิงสถาบัน,การสร้างความตระหนักและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

 

การส่งเสริมสนับสนุนอนุรักษ์พลังงาน และเพื่อป้องกันการได้ผู้ผลิตที่ไม่มีความพร้อมซึ่งจะกลายเป็นภาระและเสียเวลาเสียโอกาสดังที่ผ่านมาจึงมีการให้กำหนดเงื่อนไขความพร้อมเลือกผู้ผลิตที่มีความพร้อม 4 ด้าน คือ ด้านแหล่งเงินทุน ด้านที่ดินทำโครงการ ด้านเทคโนโลยีและด้านใบอนุญาติที่เกี่ยวข้องและควรคำนึงถึงภารกิจรัฐบาลในกรอบความร่วมมือว่าด้วยการลดโลกร้อนลดคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศเป็นสุนทรพจน์ที่นายกรัฐมนตรีประเทศไทยเมื่อปี 2558 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีต่อนานาชาติ และเพื่อยุทธศาสตร์พลังงานพัฒนาเศรษฐกิจพื้นฐานของประเทศ โดยแผนนี้กำหนดเริ่มปี 2558 บัดนี้ผ่านไป 8 ปีแล้ว ดิฉันเห็นสมควรให้มันเกิดรูปธรรม คือไม่ใช่มีแค่แผนและปรับปรุงแผนแต่ควรทำได้จริง 

ดร.มัลลิกา กล่าวต่อว่า บัดนี้นานาชาติเขาเปลี่ยนแปลงทิศทางพลังงานของชาติมาเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมลดปัญหาผลกระทบกับประชาชน ชุมชน แม้กระทั่งซาอุดีอาระเบียที่เป็นประเทศที่ขุดเจาะส่งออกน้ำมันและพลังงานได้เองก็เปลี่ยนมาผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงแดด Solar cell -Solar farm ไปด้วย  หรือประเทศญี่ปุ่น อังกฤษ และ มาเลเซีย ต่างหันมาเน้นพลังงานจากแสงแดดทั้งที่ความเข้มข้นของแสงแดดน้อยกว่าประเทศไทย

 

ขณะที่ประเทศไทยเรานั้น ถ้าติดตามทิศทางของกระทรวงพลังงาน ประกาศของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยังเป็นแผนตามระบบราชการรูปแบบสัดส่วนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงชนิดที่เรียกได้ว่าเป็นการปฏิรูปพลังงาน ทั้งที่ปัจจุบันประเทศกำลังส่อเกิดวิกฤติด้านพลังงานไฟฟ้าในอนาคตอันใกล้หากไม่วางแผนรองรับและแก้ไขปัญหาผลกระทบ เช่น ผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 แห่ง คือ ที่จังหวัดกระบี่และสงขลาสร้างไม่ได้ หรือการอาศัยกลุ่มสัมปทานพลังงานขนาดใหญ่จนเกินไปมันไม่มีทางเลือกให้ชีวิตประชาชน

 

รวมทั้งต้องประเมินอยู่ตลอดเวลาว่าประเทศไทยมีความต้องการก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG อยู่ที่เท่าใดและการรองรับของคลัง LNG มีได้เพียงเท่าใดแล้วเรายังจะต้องพึ่งการนำเข้า LNG ชาติอื่นต่อไปอีกเท่าใด คิดเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าที่เท่าใด ทำให้ต้องหาเชื้อเพลิงอีกเท่าใด ดังนั้นการผลักดันสิ่งที่มีอยู่คือธรรมชาติให้ไว้แล้วนั้นมันเป็นวิสัยทัศน์บวกกับความสามารถในการบริหารจัดการนโยบายและเป็นโอกาสของประเทศและประชาชน

 

ไม่เช่นนั้นพอมีวิกฤตพลังงานทีไรก็มีปัญหาเรื่องค่าไฟค่าพลังงานประชาชนทุกทีและรัฐก็จะไม่มีงบประมาณมาคอยชดเชยอยู่อย่างต่อเนื่อง เมื่อมันมีวิธีที่ดีกว่าเราก็ควรจะทำถ้าไม่เริ่มก็ควรจะเริ่มและรายงานให้ประชาชนรับทราบเพื่อประชาชนจะได้มีพลังศรัทธาต่อรัฐบาล ถ้าเราจะทำอะไรนั้นสิ่งที่ควรทำคือ อย่าทำให้ประเทศชาติเสียโอกาสเพราะเวลาคือสิ่งที่มีค่าที่สุด