นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบการกู้เงินเพื่อบริหารภาระค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (FT) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) วงเงิน 8.5 หมื่นล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ กฟผ. หลังจากมีภาระในการดูแลค่า FT เพื่อลดค่าครองชีพประชาชน
ขณะที่การช่วยเหลือครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่า FT งวดใหม่ กระทรวงพลังงาน จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 13 กันยายน 2565 พิจารณามาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน ซึ่งเรื่องนี้จะได้รายงานให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี ในที่ประชุม ครม. รับทราบแล้ว
สำหรับการช่วยเหลือเรื่องของค่าไฟฟ้านั้น รองนายกฯ ยืนยันว่า จะช่วยเหลือทันในรอบบิลค่าไฟเดือนกันยายน 2565 แน่นอน ซึ่งแนวทางช่วยเหลือจะเป็นไปตามมติ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) โดยแบ่งการช่วยเหลือออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
1. ช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยการให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 92.04 สตางค์ต่อหน่วย ตั้งแต่เดือนก.ย.– ธ.ค. 2565 (ส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นค่า FTเดือน พ.ค.-ส.ค. จำนวน 23.38 สตางค์ต่อหน่วย และส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า FT เดือนก.ย.–ธ.ค.จำนวน 68.66 สตางค์ต่อหน่วย)
2. ช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 301-500 หน่วยต่อเดือน โดยการให้ส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า FT เดือนก.ย.–ธ.ค. 2565 แบบขั้นบันได ในอัตรา 15 -75%
ขณะเดียวกันยังมีมาตรการคู่ขนาน คือ การส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา (โซลาร์รูฟทอป) หลังจากประชาชนหลายคนให้ความสนใจ ล่าสุดกระทรวงพลังงานได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค คาดว่า จะปลดล็อกกฎระเบียบต่าง ๆ ให้อนุมัติรวดเร็วขึ้น
“ทุกหน่วยงานจะร่วมกันเพื่อทำให้กระบวนการต่าง ๆ ในการอนุมัติรวดเร็วขึ้น ทั้งภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งตอนนี้ภาคอุตสาหกรรมไปได้เร็วกว่า และเริ่มดำเนินการไปแล้ว แต่ภาคครัวเรือนจะพยายามทำให้เร็วขึ้น เพื่อเป้นอีกหนึ่งทางเลือกในการบรรเทาผลกระทบค่าใช้จ่ายครัวเรือนที่มีศักยภาพที่จะลงทุนโซลาร์รูฟทอปได้”
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กู้เงินเพื่อบริหารภาระค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (FT) ตามนโยบายของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงินไม่เกิน 85,000 ล้านบาท
โดยให้ กฟผ.สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น เพื่อให้เกิดความเหมาะสมตามสภาพคล่องและสภาวะตลาดเงินในขณะนั้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการภาระหนี้ โดย ครม. รับทราบผลการบริหารอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่า FT ของ กฟผ. ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 4/ 2565 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565
สำหรับสถานการณ์ราคาพลังงานปัจจุบัน ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ กฟผ. ยังคงต้องรับภาระอัตราค่า FT ที่เพิ่มขึ้น โดยชะลอการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงงวดตั้งแต่เดือนกันยายน- ธันวาคม 65 (งวดปัจจุบัน) จากราคาพลังงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ผลักภาระเป็นค่าใช้จ่ายของประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล ในการช่วยเหลือลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลอัตราค่าบริการพลังงานไฟฟ้าตามนโยบายภาครัฐได้มอบหมายให้ กฟผ. ช่วยรับภาระอัตราค่า FT ที่เพิ่มขึ้น ชะลอการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงตั้งแต่งวดเดือนกันยายน- ธันวาคม 64 จนถึงงวดเดือนพฤษภาคม- สิงหาคม 2565 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 87,849 ล้านบาท (ค่าประมาณการ ณ มีนาคม 2565) ที่จะเรียกเก็บกับประชาชนในระยะนี้เลื่อนออกไปก่อน
ส่งผลให้ กฟผ. ต้องรับภาระอัตราค่า FT ทำให้สภาพคล่องทางการเงินลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีการประมาณการกระแสเงินสดของ กฟผ. ว่า จะขาดเงินสูงสุดในวันที่ 30 มีนาคม 2566 จำนวนเงินประมาณ 74,000 ล้านบาท จึงมีความจำเป็นกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มเติมจะปีงบประมาณ 2566 เพื่อบริหารภาระค่า FT ตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 84,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ประกอบด้วย สัญญากู้ยืมเงิน (Term Loan) กู้เบิกเกินบัญชี ตั๋วสัญญาใช้เงิน การทำ Trust Receipt (T/R) และการทำสัญญากู้เงินเมื่อทวงถาม (Call Loan) โดย กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการค้ำประกันการชำระหนี้ของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือสถาบันการเงินของภาครัฐ