นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า จากการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 24 สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G1/65 G2/65 และ G3/65 ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ปรากฏว่ามีบริษัทสนใจยื่นคำขอสิทธิฯ ทั้งสิ้น จำนวน 2 บริษัท
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า 2 บริษัทที่ยื่นขอสิทธิ ได้แก่ กลุ่ม บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และ บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
ทั้งนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เปิดให้ยื่นคำขอสิทธิฯ ในวันและเวลาราชการ ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน ถึงวันที่ 16 กันยายน 2565 ซึ่งมีบริษัทที่สนใจร่วมยื่นขอสิทธิฯ จำนวน 2 ราย โดยเอกสารการยื่นขอสิทธิฯ ประกอบด้วย คำขอสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต เอกสารแสดงคุณสมบัติที่กำหนดไว้ในมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514
รวมทั้งข้อเสนอข้อผูกพันด้านปริมาณงานและปริมาณเงินสำหรับการสำรวจปิโตรเลียม และผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ โดยในการพิจารณาคำขอสิทธิฯ ดังกล่าว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ดำเนินตามขั้นตอนทุกอย่างด้วยความโปร่งใส รัดกุม และรอบคอบ
ซึ่งเชื่อมั่นว่ากลไกต่าง ๆ ในการพิจารณาให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จะสามารถทำให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ยื่นขอสิทธิฯ ทุกรายในครั้งนี้ได้ ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะพิจารณากลั่นกรองพิจารณาคุณสมบัติ ข้อเสนอทางด้านเทคนิค และผลประโยชน์ตอบแทนรัฐในเบื้องต้นของบริษัทผู้ยื่นคำขอสิทธิฯ
ก่อนเสนอผลการพิจารณากลั่นกรองให้คณะอนุกรรมการพิจารณาการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม คณะอนุกรรมการพิจารณาข้อกฎหมายและร่างสัมปทานปิโตรเลียม คณะกรรมการปิโตรเลียม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพิจารณาตามลำดับ และนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ โดยคาดว่าจะสามารถประกาศผลผู้ได้รับคัดเลือกเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตได้ราวเดือนกุมภาพันธ์ 2566
สำหรับการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมครั้งที่ 24 นี้ นับเป็นการสร้างโอกาสกับประเทศไทย ในการนำทรัพยากรปิโตรเลียมมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และเพิ่มโอกาสในการพบแหล่งปิโตรเลียมใหม่ ของประเทศซึ่งนับเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในการส่งเสริมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแก่ประเทศอย่างต่อเนื่องในระยะยาว
ล่าสุด บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จํากัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ยื่นข้อเสนอประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 อย่างเป็นทางการ
อนาคตของพลังงานไทยที่มั่นคง จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือที่เข้มแข็งจากทุกภาคส่วน และความเข้าใจถึงบทบาทสำคัญของภาคพลังงานในการพัฒนาเศรษฐกิจและชุมชน รวมไปถึงวิถีทางในการที่เราจะพัฒนาพลังงานคาร์บอนต่ำร่วมกันในอนาคต
ข้อเสนอของบริษัทแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ถึงความรู้ความเข้าใจในสภาพทางธรณีวิทยาของอ่าวไทย ที่สั่งสมจากการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ความสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและการปฏิบัติงานทั่วโลก