จับตาบอร์ดไทยออยล์เคาะชื่อ CEO คนใหม่วันนี้สานต่องาน "วิรัตน์ เอื้อนฤมิต"

23 ก.ย. 2565 | 00:11 น.

จับตาบอร์ดไทยออยล์เคาะชื่อ CEO คนใหม่วันนี้สานต่องาน "วิรัตน์ เอื้อนฤมิต" เดินหน้ากลยุทธ์ 3V ระบุต้องเร่ง Transform ขนานใหญ่เพื่อรองรับความท้าทายในอนาคต

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วันนี้ (23 ก.ย.) จะมีการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯเพื่อพิจารณาอนุมัติแต่งตั้งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (CEO) ไทยออยล์คนใหม่

 

ทั้งนี้ วันที่ 30 กันยายนนี้ตนจะเกษียนอายุครบ 60 ปี โดยตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่เข้ามาดำรงตำแหน่ง CEO ในไทยออยล์ได้ตระหนักถึงความสำคัญที่ไทยออยล์จะต้องเร่ง Transform ขนานใหญ่เพื่อรองรับความท้าทายในอนาคต ดังนั้นจึงส่งมอบไม้ต่อให้กับCEO ไทยออยล์คนใหม่ เพื่อสานต่อกลยุทธ์เพื่อผลักดันองค์กรให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้ ผ่านยุทธศาสตร์ 3V ประกอบด้วย 

 

1.Value Maximization: Integrated Crude to Chemicals การบูรณาการต่อยอดห่วงโซ่คุณค่าจากธุรกิจโรงกลั่นสู่ธุรกิจปิโตรเคมี เช่น อะโรเมติกส์ โอเลฟิน รวมไปถึงผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงเพื่อเพิ่มมูลค่าสูงสุดให้กับผลิตภัณฑ์ และเสริมความสามารถในการแข่งขันของไทยออยล์ เช่น การที่ ไทยออยล์ ได้เข้าไปลงทุนโครงการพลังงานสะอาด (CFP) เป็นโครงการที่เพิ่มประสิทธิภาพโรงกลั่นและขยายกำลังการกลั่นจาก 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็นฐานการผลิตที่สำคัญของธุรกิจปิโตรเลียม 

ซึ่งนอกจากตอบโจทย์ด้านความสามารถในการแข่งขัน ลดต้นทุนน้ำมันดิบ และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ยังเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่ทำให้บริษัทฯ สามารถต่อยอดไปธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง(High Value Product หรือ HVP) ล่าสุด ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2565 การดำเนินการตามโครงการ CFP มีความคืบหน้าอยู่ที่ 87% และคาดว่าจะสามารถทยอยเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2567 และ สามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบในปี 2568

 

รวมถึง การเข้าไปลงทุนในบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) เป็นบริษัทผู้ผลิตปิโตรเคมีชั้นนำในประเทศอินโดนีเซีย ไทยออยล์ได้ร่วมลงทุนใน CAP ในปี 2564 ทำให้ไทยออยล์สามารถก้าวเข้าสู่ธุรกิจโอเลฟินได้อย่างรวดเร็วและทำให้โครงสร้างธุรกิจครอบคลุมธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมีได้อย่างสมบูรณ์ สร้างโอกาสการเติบโตในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสูงมาก และยังถือเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือในการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคตอีกด้วย

 

จับตาบอร์ดไทยออยล์เคาะชื่อ CEO คนใหม่วันนี้สานต่องาน "วิรัตน์ เอื้อนฤมิต"

 

โดยการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ถือเป็นส่วนหนึ่งของการบรรลุเป้าหมายในเชิงกลยุทธ์ ได้แก่  กลยุทธ์ Value Maximization: Integrated Crude to Chemicals บริษัทฯ สามารถต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเลียมที่มีการลงทุนในโครงการ CFP ไปยังธุรกิจปิโตรเคมี ผ่านการลงทุนใน CAP (CAP1+CAP2) โดยบริษัทฯ มีโอกาสที่จะสร้าง Synergy Value จากการ supply feedstock ทั้ง LPG และ naphtha ให้กับ CAP หลังจาก CFP เริ่มดำเนินการ

 

และ กลยุทธ์ Value Enhancement: Expand market share in target countries โดยจะมุ่งเน้นการขยายตลาดในภูมิภาค โดยบริษัทฯ ได้รับสิทธิการเป็น distribution Polymer & liquid product ของ CAP ผ่านบริษัท PT. Tirta Surya Raya (TSR) (ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นอยู่ 77.7%) ถือเป็นการขยายตลาดสู่ประเทศอินโดนีเซีย

บริษัท คาดว่า โครงการขยายกำลังการผลิต CAP2 จะมี Final Investment Decision (FID) ภายในไตรมาส 4 ปี 2565 และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2569 ซึ่งโครงการนี้มีมูล 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งบริษัทถือหุ้น 15% และปีที่ผ่านมาได้ใส่เงินลงทุนเข้าไปแล้วประมาณ 913 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหากตัดสินใจ FID โครงการ CAP2 ก็จะใส่เงินเข้าไปอีก ประมาณ 270 ดอลลาร์สหรัฐ และโครงการนี้ไม่จำเป็นต้องระดมเงินเพิ่มแต่อย่างใด  

 

2.Value Enhancement: Integrated Value Chain Management การบูรณาการขยายตลาดและกระจายผลิตภัณฑ์ไปสู่ต่างประเทศในระดับภูมิภาค เน้นตลาดที่มีความต้องการสูงเพื่อเข้าถึงความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายยิ่งขึ้น เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย ซึ่งมีการเจริญเติบโตสูง รวมถึงเพิ่มโอกาสในการลงทุนในประเทศเหล่านี้ เพื่อเข้าถึงและตอบสนองความต้องการของ End user มากขึ้น

 

3.Value Diversification: การกระจายการเติบโตสู่ธุรกิจที่มีความมั่นคงของผลกำไร เช่น ธุรกิจไฟฟ้า ผ่านการเจริญเติบโตในบริษัท GPSC รวมถึงแสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่ที่เป็น New S-Curve เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต เช่น Biojet, Bioplastics/ biochemicals, Blue/green hydrogen โดยใช้กลไกการลงทุน 2 แบบ ได้แก่ การลงทุนผ่าน Corporate Venture Capital (CVC) และการลงทุนในรูปแบบ Joint Venture และ Merger and Acquisition