นายหิมาลัย ผิวพรรณ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีมีการการบุกรุกพื้นที่โครงการเขื่อนคิรีธาร จังหวัดจันทบุรีปลูกทุเรียน กว่า 260 ไร่ ในพื้นที่เกาะกลางอ่างเก็บน้ำ(เกาะร้อยไร่) ว่า ได้มีการร่วมประชุมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ,กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ,กรมป่าไม้ ,ส.ป.ก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกร่วมกัน
และได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยพบการบุกรุกพื้นที่เพื่อทำการเกษตรและปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ทุเรียน ในหลายจุด ซึ่งพบว่าไม่ใช่ทุนจีนแต่อย่างใด
โดยพื้นที่การบุกรุกบางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและบางส่วนเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. ที่ต้องตรวจสอบสิทธิ์ ที่ผ่านมาทาง พพ.ได้แจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีกับผู้บุกรุกพื้นที่บริเวณเกาะร้อยไร่ 262 ไร่ และพื้นที่โดยรอบโครงการฯ 17 ราย 21 แปลง
“พลังงาน” ขีดเส้นจี้ผู้บุกรุกโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนคีรีธารออกใน 30 วัน
“การบุกรุกพื้นที่รัฐเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวต้องหมดไป กระทรวงพลังงานและภาครัฐ จะดำเนินการถึงที่สุด ใครทำผิดต้องรับผิด เขื่อนคิรีธารไม่ได้เป็นเพียงโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ แต่เป็นแหล่งน้ำสำคัญของประชาชน การใช้พื้นที่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนและประเทศชาติ“
ทั้งนี้ ได้มีการรับฟังเสียงประชาชน โดยประชาชนที่ได้รับเอกสารสิทธิ์จากราชการ จะดำเนินการเยียวยา ส่วนประชาชนที่เข้าใจผิดในการเข้าใช้พื้นที่ กระทรวงพลังงานจะให้เวลา 30 วันในการออกจากพื้นที่ก่อนจะดำเนินคดีหากพบว่ายังมีการบุกรุกอยู่
นายนันทนิษฎ์ วงศ์วัฒนา รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมา พพ. ได้ดำเนินการตรวจสอบพื้นที่และแจ้งผู้บุกรุกพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ถึงปัจจุบัน ได้ติดตาม ตรวจสอบและประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่เขื่อนคิรีธาร มีการลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับกรมป่าไม้
ซึ่ง พพ. มีหนังสือขอยกเลิก หรือเพิกถอนสิทธิการครอบครองที่ดินบางส่วนจาก ส.ป.ก. และแจ้งความดำเนินคดีกับผู้บุกรุกที่ไม่มีเอกสารสิทธิ โดยการดำเนินคดีและมาตรการต่าง ๆ จะเป็นไปตามกรอบกฎหมาย พร้อมขอความร่วมมือจากประชาชนให้ปฏิบัติตามกฏหมาย เพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำที่เป็นพลังงานสะอาด และบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ พพ. ยังเตรียมเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธารให้สามารถเพิ่มน้ำต้นทุน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า