นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวบรรยายพิเศษในงานมอบรางวัลสมาคมการค้าดีเด่นประจำปี 2565 หัวข้อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและไทยในโค้งสุดท้ายปี 2022 และปี 2023 ว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปีหน้าไม่ดีเท่าไร โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี)โลกจะโตช้ากว่าปีนี้อย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศไทย โดยสหรัฐ โต 1.4 % ยุโรป 1.2 % ญี่ปุ่นโต 1.7 % จีนโต 4.6 %
ขณะที่ไทย จีดีพี ปีนี้จะอยู่ที่ 3% และปี 2566 จะขยายตัวอยู่ที่ 4.3%โดยเศรษฐกิจไทยจะอาศัยภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยมีสัญญาณทยอยฟื้นตัว ซึ่งตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวครึ่งปีแรกของปีนี้เข้ามาแล้ว 2 ล้านคน และคาดว่าครึ่งหลังจะเข้ามาได้อีก 6-8 ล้านคน หากมียอดใช้จ่ายต่อคนเฉลี่ยอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท คิดเป็นรายได้ 3 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 2% ของจีดีพี และในปี 2566 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 20 ล้านคน คิดเป็นเม็ดเงินราว 1 ล้านล้านบาท หรือ 5-6% ของจีดีพี แต่ยังไม่ได้หักการนำเข้า แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจโลกจะโตได้มากน้อยแค่ไหน
นายศุภวุฒิ กล่าวต่อไป ว่ามีการประเมินความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่ถดถอยในประเทศหลักๆ โดยคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐใน 12 เดือนข้างหน้าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยถึง 25 % และ 24 เดือนข้างจะมีความเสี่ยงสูงถึง 65 % ส่วนยุโรปตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายตัวบ่งชี้ว่ายุโรปกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษ จากภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์มองว่า ธนาคารกลางของสหรัฐหรือเฟดใช้มาตรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อป้องกันไม่ให้เงินเฟ้อสูงไปมากกว่านี้จะเป็นตัวเร่งให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้การเร่งตัวของเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทำให้ตลาดมองว่า เฟดจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยไปอีก และอยู่ในระดับ 3.75 % ภายในต้นปีหน้า ซึ่งจากนี้เฟดก็จะค่อยๆปรับลดดอกเบี้ยเพราะเงินเฟ้อเริ่มลดลง ปัญหาที่ต้องมองคือ ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับอัตราดอกเบี้ยอย่างช้า ๆเพื่อพยุงหนี้ครัวเรือน โดยขึ้นเพียง 0.25% จากระดับ 0.50% เป็น 0.75% ซึ่งยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อ และมองว่าปีหน้าเมื่อเฟดลดอัตราดอกเบี้ยลงไทยก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยอีก แต่ตนมองว่าจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหากกลางปีหน้าเงินเฟ้อสหรัฐยังสูงอยู่ 4-5 % ดอกเบี้ยสหรัฐ ยังคาดว่าไปอยู่ที่กว่า 3% ขณะที่ไทยเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ไทยก็อยู่ 4-5 % การที่ขึ้นดอกเบี้ยช้าและต่ำก็จะทำให้เงินเฟ้อลงลึกไปอีก (Wage price Spiral) ซึ่งจะทำให้กลับมาแก้ไขก็ยากขึ้นไปอีก
นอกจากปัญหาเงินเฟ้อแล้วยังมีปัญหาในเรื่องของราคาอาหาร ราคาธัญพืช ปุ๋ยแพง และที่มองข้ามไม่ได้คือ ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกทั้งสหรัฐ ยุโรป และจีน ซึ่งจะส่งผลต่อราคาอาหารแพงต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ซึ่งปัจจัยนี้ก็จะยิ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นอีก ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยด้วย
“ ยังไม่รวมถึงสถานการณ์การเมืองของไทยในปีหน้าที่คาดว่าน่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในกลางปีหน้า โดยการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ค. และได้รัฐบาลใหม่ในช่วงเดือนก.ค. และประกาศนโยบายรัฐบาล ในช่วงที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่ รัฐมนตรี ซึ่งช่วงนั้นจะเป็นช่วงสุญญากาศทางการเมือง การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร ซึ่งประเด็นนี้ไม่ควรมองข้ามและต้องนำมาพิจารณาด้วย “