29 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานในวันพรุ่งนี้ คือ วันที่ 30 สิงหาคม 2565 กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะหารือถึงการออกข้อบัญญัติจดเก็บภาษีที่ดิน ในส่วนอัตราเกษตรกรรมในเพดานสูงสุดจาก 0.01% เป็น 0.15% ได้หรือไม่ โดยหากที่ประชุมเห็นชอบ กทม.จะยกร่างข้อบัญญัติดังกล่าวทันที
ทั้งนี้ กทม.มีนโยบายจัดเก็บภาษีที่ดิน หรือ สิ่งปลูกสร้าง ที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ในอัตราภาษีที่สูงกว่าอัตราที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา เพื่อให้มีความเหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ที่ดินในกรุงเทพฯ
สำหรับร่างข้อบัญญัติ กทม.ฉบับนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาพิจารณาในรายละเอียด โดยสำนักการคลังจะเข้าสำรวจพื้นที่ดินประเภทพาณิชยกรรม (โซนสีแดง) เฉพาะแปลงที่ดินที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาว่าพื้นที่ดังกล่าวมีการทำเกษตรกรรมจริง ๆ จำนวนเท่าใด เพราะเจตนารมณ์ของการยกร่างฯ เพื่อให้เจ้าของที่ดินในพื้นที่ที่มีมูลค่าสูง และไม่ได้ประกอบการอาชีพเกษตรกรรม
ดำเนินการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง รวมถึงเป็นแนวทางการจัดเก็บภาษีอื่น ๆ เพิ่มเติม เป็นประโยชน์ให้เกิดกับประชาชนสูงสุด
อนึ่ง กทม.ได้มีหนังสือด่วนที่สุดมอบหมายให้สำนักการคลังจัดทำข้อมูลเปรียบเทียบรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะที่ดินประเภทพาณิชยกรรม (โซนสีแดง) ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม (โซนสีม่วง) และ ที่ดินประเภทคลังสินค้า (โซนสีเม็ดมะปราง) รวมไปถึงที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (โซนสีน้ำตาล)
หากในอนาคตจะมีการคิดอัตราภาษีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนายทุนที่นำที่ดินทำเลย่านพาณิชยกรรมมาทำเกษตร โดยอาศัยมาตรา 37 วรรค 7 ตามกฎหมายภาษีที่ดิน ที่ให้อำนาจท้องถิ่นสามารถเสนอเรื่องดังกล่าวเพื่อออกข้อบัญญัติฯเพิ่มเพดานจัดเก็บได้ แต่ต้องไม่เกินในอัตราที่กำหนด เช่น อัตราเกษตรกรรม ไม่เกิน 0.15%