พายุกระหน่ำสวนยางผลผลิตลดฮวบ! กยท.ใช้ “แก้มลิง”เก็บยันไม่ล้นตลาด

05 ก.ย. 2565 | 14:00 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ย. 2565 | 21:07 น.

กยท.ยืนยันปริมาณยางไม่ได้ล้นตลาด เผยฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องปีนี้ เกษตรกรไม่สามารถกรีดยางได้ตามเป้า คาดผลผลิตเดือนก.ย.-ต.ค.65 ลดลงร่วม 100,000 ตัน พร้อมเดินหน้าเร่งขยายผลโครงการชะลอการขายยาง ใช้เป็น "แก้มลิงยาง" เก็บยางไว้ขายช่วงยางในตลาดมีน้อย

นายขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล  รองผู้ว่าการด้านบริหาร   ในฐานะรองโฆษก กยท. เปิดเผยว่า จากที่สมาคมประเทศผู้ผลิตยางพาราธรรมชาติ (Association of Natural Rubber Producing Countries: ANRPC) ได้ให้ข้อมูลว่าผลผลิตยางในช่วงนี้มีปริมาณมากกว่าความต้องการใช้นั้น เป็นการให้ข้อมูลภาพรวมของผลผลิตยางพาราจากประเทศสมาชิกทั้งหมด ในส่วนของประเทศไทยนั้น

 

เนื่องจากขณะนี้เป็นฤดูมรสุม มีร่องมรสุมพัดผ่านประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่  เกษตรกรไม่สามารถกรีดยางได้ ทำให้ปริมาณยางออกสู่ตลาดในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ต่อเนื่องถึงต้นไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ประมาณ 5-6%  นอกจากนี้กรมอุตุนิยมวิทยายังได้คาดการณ์ด้วยว่า ฝนจะตกหนักต่อเนื่องไปจนถึงปลายเดือนตุลาคม 2565  ยิ่งจะทำให้ปริมาณยางในตลาดน้อยลง เพราะไม่สามารถกรีดยางได้ตามเป้าหมาย 

ทั้งนี้เดิมนั้นได้คาดการณ์ว่า ในเดือนกันยายน 2565  จะมียางออกสู่ตลาดประมาณ 479,000 ตัน และเดือนตุลาคม 2565  จะมียางออกสู่ตลาด 496,000 ตัน ซึ่งจากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นคาดว่าปริมาณยางจะลดลงจากปีก่อนของเดือน ก.ย.- ต.ค. ร่วม 100,000 ตัน  


 

นอกจากนี้ กยท. ยังได้ดำเนินโครงการชะลอขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อลดปริมาณผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาด เป็นการนำยางไปเก็บไว้เพื่อนำออกมาขายในช่วงที่ยางออกสู่ตลาดน้อยหรือ "แก้มลิงยาง" ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนยกระดับ รักษาเสถียรภาพราคาซื้อขายยางในตลาด   และเกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมตามกลไกตลาด ในขณะเดียวกันยังช่วยให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางมีสภาพคล่องทางการเงินในระหว่างรอขายผลผลิตอีกด้วย

 

 


 

โดย ในปีนี้ กยท.จะเปิดโอกาสให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางเข้าร่วมโครงการมากขึ้น และขยายดำเนินโครงการดังกล่าวกับยางทุกประเภท ทั้งยางก้อนถ้วน  น้ำยางสด  ยางแผ่นดิบ  ยางแผ่นรมควัน และยางประเภทอื่นๆ  ตั้งเป้าหมายโครงการฯไว้จำนวน 100,000  ตัน ซึ่งขณะนี้ กยท.ได้จัดสรรงบประมาณไว้รองรับเรียบร้อยแล้ว 

 

“ปริมาณยางจากโครงการชะลอการขายยาง จะนำออกมาขายในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566   ซึ่งจะไม่กระทบต่อราคายางเพราะเป็นช่วงฤดูปิดการกรีดยาง ปริมาณยางออกสู่ตลาดน้อยอยู่แล้ว  ดังนั้นปริมาณยางในขณะนี้จึงไม่ได้มีปริมาณมากเกินกว่าความต้องการของตลาด ความต้องการยางและปริมาณผลผลิตยาง ยังถือว่าสมดุล" รองผู้ว่าการ  
กยท. กล่าวยืนยัน 


 

ส่วนสาเหตุที่ราคายางในช่วงนี้ลดลงนั้น ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากปริมาณการผลิตรถยนต์ในต่างประเทศ  โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่นำเข้ายางพาราจากประเทศไทยลดลง เนื่องจากขาดแคลน ชิปIC ที่จะต้องนำเข้ามาเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตรถยนต์ เพราะประเทศไต้หวันซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตชิป IC รายใหญ่ของโลกลดปริมาณการส่งออกขายประเทศจีนด้วยเหตุผลความขัดแย้งทางการเมืองและการทหาร  ดังนั้นเมื่อยอดการผลิตรถยนต์ลดลง การใช้ยางล้อสำหรับรถยนต์ก็ลดลงตามไปด้วย    
 

 

อย่างไรก็ตามหลังจากวันชาติจีน คือ วันที่ 1-10 ตุลาคม 2565 แล้วคาดว่า สถานการณ์น่าจะคลี่คลาย การส่งออกชิปIC ของไต้หวันก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ  ซึ่งจะทำให้ยอดการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้น การใช้ยางล้อก็จะเพิ่มขึ้นด้วย  ความต้องการใช้ยางก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน  ในขณะที่ปริมาณยางมีจำนวนจำกัด ดังนั้นราคายางปรับขึ้นอย่างเสถียรภาพในช่วงปลายปีนี้อย่างแน่นอน ประกอบกับราคาในตลาดซื้อขายล่วงหน้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้ต้นทุนปรับลดลง ส่งผลให้ราคายางมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน