แอปล่มเป็นเหตุ ธปท.จี้แบงก์ขยาย Capacity

09 ก.ย. 2565 | 08:55 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2565 | 15:55 น.

ธปท.สั่ง ttb ดูแลแอปพลิเคชั่นไม่ให้ล่ม จี้แบงก์เร่งขยาย Capacity แอปพลิเคชั่น รองรับธุรกรรมการเงินที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ส่องสถิติแอปล่มพบ ttb นำโด่ง ระบบล่มมากถึง 12 ครั้ง รวมเวลา 38 ชั่วโมงและยังเป็นการล่มครบทุกรายการ

 

เหตุจากแอปพลิเคชัน ttb touch ของธนาคาร ทหารไทยธนชาต(ทีเอ็มบีธนชาต)หรือ ttb ล่มต่อเนื่องถึงสองวัน ระหว่างวันที่ 1-3 กันยายน ส่งผลให้ลูกค้าใช้งาน 4.57 ล้านราย จากจำนวนลูกค้าที่มีเกือบ 10 ล้านรายได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก

 

หลักๆ เกิดจากปริมาณธุรกรรมทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากหลังจากเริ่มให้บริการระบบพร้อมเพย์ในปี 2560 และโดยเฉพาะหลังการระบาดของโควิด-19 ทำให้คนไทยหันมาใช้ดิจิทัลแบงกิ้งมากขึ้น แถมได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลจากมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ส่งผลให้ปริมาณการทำธุรกรรมพุ่งขึ้น 

 

สะท้อนจากปริมาณเงินหมุนเวียนผ่านระบบของบริษัท  เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ (NITMX) รวม 39 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 คิดเป็น 2.4 เท่าของจีดีพีประเทศไทย โดยมีธุรกรรมชำระเงินระหว่างธนาคารกว่า 1 หมื่นล้านรายการและมีีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยครึ่งแรกปี 2565 มีปริมาณธุรกรรมชำระเงินระหว่างธนาคารกว่า 6,000 ล้านรายการ มูลค่ากว่า 23 ล้านล้านบาท

 

นั่นเป็นผลจากจำนวนผู้ลงทะเบียนในระบบพร้อมเพย์ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ 71 ล้านเลขหมายเพิ่มขึ้น 22.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปริมาณธุรกรรมโอนเงินเฉลี่ย 38.7 ล้านรายการต่อวันเพิ่มขึ้นถึง 59.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 1.21 แสนล้านบาทต่อวัน และเมื่อมาเจอกับช่วงสิ้นเดือนที่ปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้นเท่าตัว ทำให้แอปพลิเคชันแบงก์ไหนที่กำลังไม่พอก็ไม่สามารถทำงานได้ อย่างที่พบเจอกับหลายธนาคารและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง 

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)รายงานสถิติข้อมูลระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของธนาคารพาณิชย์ขัดข้องในช่วง 6 เดือนแรกปี 2565 พบว่า ทีเอ็มบีธนชาตครองอันดับหนึ่ง โดยระบบล่มมากถึง 12 ครั้ง รวมเวลา 38 ชั่วโมงและยังเป็นการล้มครบทุกรายการคือ นอกจาก Mobile Baking จะล่มแล้ว Internet Banking ยังล่มถึง 2 ครั้ง รวมเวลา 5 ชั่วโมง  เครื่อง ATM/ADM ขัดข้องอีก 3 ครั้ง รวม 2 ชั่วโมง และธุรกรรมที่สาขาขัดข้องอีก 2 ครั้ง รวมเวลา 1 ชั่วโมง

แอปล่มเป็นเหตุ  ธปท.จี้แบงก์ขยาย Capacity

 

ตามมาด้วยธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และธนาคาร กรุงเทพ (BBL) ซึ่งเกิดขัดข้องเพียง Mobile Banking  แต่ SCB เกิดขึ้นถึง 8 ครั้งรวม 7 ชั่วโมง หรือโดยเฉลี่ย 52.5 นาทีต่อครั้ง ขณะที่ BBL ล่ม 3 ครั้ง รวม 22 ชั่วโมง เฉลี่ย 7 ชั่วโมง 20 นาที/ครั้ง ขณะที่ธนาคาร กรุงไทย(KTB) ระบบขัดข้องถึง 3 รายการ ยกเว้นเพียง Internet Banking เท่านั้น โดย Mobile Banking ล่ม 3 ครั้ง รวม 5 ชั่วโมง เฉลี่ย 1 ชั่วโมง 40 นาที/ครั้ง  เครื่องATM/ADM  และธุรกรรมสาขาขัดข้องอีก 1 ครั้ง แต่ระยะเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง

     

ส่วนธนาคารกรุงศรี (BAY) ระบบขัดข้อง 2 ส่วนคือ Mobile Banking กับ  Internet Banking เกิดขึ้น 1 ครั้ง รวมเวลา 4 ชั่วโมง และที่ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ระบบ Mobile Banking ล่มอย่างเดียว 1 ครั้งรวม 2 ชั่วโมง และธนาคาร กสิกรไทย (KBANK)

 

ระบบ Mobile Banking ล่มอย่างเดียวเช่นกัน 1 ครั้ง น้อยกว่า 1 ชั่วโมง  ขณะที่ธนาคารที่ไม่มีปัญหาระบบล่มในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้คือ ธนาคารเกียรนาคินภัทร หรือ KKP และธนาคาร ทิสโก้ (TISCO) 

 

ธปท. โดยนางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ต้องออกมาสั่งการ ttb ดูแลลูกค้าและย้ำให้แก้ปัญหาระบบล่มให้ได้อย่างยั่งยืน พร้อมยอมรับว่า แม้ธนาคารแต่ละแห่งจะขยายความสามารถในการรองรับธุรกรรม(Capacity)ไปหลายเท่าในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังคงอยู่ระหว่างปรับระบบของตัวเองเพื่อยกระดับ ปรับเปลี่ยนระบบใหม่ ฉะนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการสะดุดบ้างเป็นรายธนาคาร 

 

“ขณะนี้้ระบบกลาง NITMX ไม่มีปัญหา แต่ช่วงที่มีปริมาณมากทั้งต้นเดือนและสิ้นเดือน แม้ความสามารถของธนาคารในการรองรับธุรกรรมถือว่าเพียงพอ แต่จากปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกเดือน ดังนั้นทุกธนาคารจะต้องขยาย Capacity ไปเรื่อยๆด้วย"นางสาวสิริธิดาระบุ