‘บขส.’ ซุ่มศึกษาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ 7.6 พันล้าน ปั๊มรายได้

24 ส.ค. 2565 | 06:55 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ส.ค. 2565 | 14:00 น.

บขส.เล็งศึกษาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ 30 ไร่ 7.6 พันล้านบาท นำร่องปิ่นเกล้า-ชลบุรี อัพเกรดพื้นที่เพิ่มรายได้ เตรียมเปิดโอกาสเอกชนยื่นข้อเสนอเช่าพื้นที่ ผุดมิกซ์ยูสใจกลางกรุง เริ่มก.ย.-ต.ค.นี้

จากแผนพัฒนาเชิงพาณิชย์ บนที่ดินทำเลศักยภาพ 4 แปลง ของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เพื่อหารายได้ ตามนโยบายกระทรวงคมนาคม ล่าสุด นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า เบื้องต้นบขส.จะนำร่องพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ จำนวน 2 แปลงก่อน คือ ย่านปิ่นเกล้าและย่านชลบุรี เพราะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการฯ

 

 

ปัจจุบันทางบขส.เตรียมแผนฯที่จะนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการอสังหาริมทรัพย์พิจารณาภายในเดือนนี้ หากผ่านความเห็นชอบคณะอนุกรรมการฯแล้ว หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการบขส.พิจารณาเห็นชอบ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาราว 1 เดือน และดำเนินการประกาศเชิญชวนให้เอกชนผู้ที่สนใจเข้ามายื่นเสนอในการพัฒนาโครงการฯ โดยจะมีการกำหนดราคากลางขั้นตํ่า คาดว่าจะออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมได้ภายในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2565

 

 

ขณะเดียวกันการประมูลพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในโครงการฯนั้น ทาง บขส.จะเปิดกว้างให้แก่เอกชนผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลนำเสนอผลงานในการพัฒนาโครงการฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเอกชนเป็นผู้ยื่นเสนอแผนดำเนินการในรูปแบบระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะยาว ซึ่งอายุสัญญาเช่าโครงการฯอยู่ที่ 30 ปี ส่วนรูปแบบการประมูลจะใช้รูปแบบพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (PPP) หรือไม่ขึ้นอยู่กับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value: NPV) และข้อเสนอของเอกชน ทั้งนี้บขส.จะต้องพิจารณาด้วยว่าข้อเสนอใดมีผลประโยชน์ต่อบชส.และภาครัฐมากที่สุดก็จะได้รับคัดเลือกเป็นผู้ชนะโครงการฯ หลังจากนั้นจะดำเนินการพิจารณาลงนามสัญญาต่อไป

 

 

ทั้งนี้โครงการฯไม่จำเป็นต้องเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ เนื่อง จากเป็นโครงการภายในกิจการของ บขส. ซึ่งจะเสนอต่อคณะกรรมการ บขส.พิจารณาเท่านั้น แต่จะรายงานกระทรวงคมนาคมเพื่อรับทราบในการดำเนินโครงการฯเพื่อไม่ให้กระทบต่อการให้บริการเดินรถสาธารณะ

“โครงการฯดังกล่าว ทาง บขส.จะไม่ดำเนินการก่อสร้างเอง แต่เป็น การปล่อยให้เอกชนเช่าพื้นที่ดำเนิน โครงการฯ เช่น โครงการมิกซ์ยูส โดยบขส.จะได้รับประโยชน์จากการที่ เอกชนขอเช่าพื้นที่แทน”
    

 

เป้าหมายสูงสุดของบขส.ในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์คือย่านสถานีเอกมัย เพราะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพตอบโจทย์ในด้านการลงทุนแก่เอกชน ประกอบกับภายในสถานีเอกมัยไม่ค่อยเกิดประโยชน์แล้ว เนื่อง จากการเดินรถโดยสารขนาดใหญ่ ทำให้เกิดการจราจรติดขัดและไม่สะดวกต่อประชาชน 
    

 

“ปัจจุบันบขส.อยู่ระหว่างศึกษาแผนย้ายรถโดยสารภายในสถานีเอกมัย อาจจะพิจารณาให้สถานีดังกล่าวอยู่บริเวณรอบนอก เช่น บริเวณไบเทค บางนา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการรองรับจุดจอดรถโดยสารแทนสถานีเอกมัยได้ โดยเป็นลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันเพื่อแบ่งผลประโยชน์ของค่าเช่าพื้นที่ ทั้งนี้คงต้องรอความชัดเจนก่อนว่าเป็นอย่างไร คาดว่าจะเห็นผลการศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 2566 และจะเริ่มดำเนินการประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุนได้ภายในปี 2567 หากดำเนินการได้จะช่วยชดเชยรายได้ในการให้บริการเดินรถโดยสารแก่บขส.ด้วย”  
    

 


ทั้งนี้พบว่าเอกชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณย่านสถานีเอกมัยมากที่สุด เพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่ใจกลางเมือง ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ได้มากขึ้น ส่วนการพัฒนาพื้นที่สายแยกไฟฉายนั้น ขณะนี้ติดปัญหาเรื่องการรื้อถอนระหว่างเขตทาง เนื่องจากบริเวณชุมชนโดยรอบมีการคัดค้าน ทำให้บขส.ต้องพิจารณาเรื่องข้อกฎหมายเพิ่มเติมด้วย 

สำหรับพื้นที่ของแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ จำนวน 4 แปลง รวมพื้นที่ 30 ไร่ มูลค่า 7,641 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ย่านเอกมัย มีพื้นที่ 7 ไร่ มูลค่า 2,500 ล้านบาท 2. ย่าน 3 แยกไฟฉาย มีพื้นที่ 3 ไร่ มูลค่า 428 ล้านบาท 3. ย่านปิ่นเกล้า มีพื้นที่ 15 ไร่ มูลค่า 4,600 ล้านบาท และ 4. ย่านชลบุรี มีพื้นที่ 5 ไร่ มูลค่า 113 ล้านบาท
    

‘บขส.’ ซุ่มศึกษาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ 7.6 พันล้าน ปั๊มรายได้

 

นายสัญลักข์ กล่าวต่อว่า ขณะที่การเช่าพื้นที่บริเวณที่ดินหมอชิต 2 นั้น ทางบขส.จะขออนุญาตกระทรวงคมนาคมเช่าพื้นที่ดังกล่าวต่อไป เพราะเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการเชื่อมต่อการเดินทางที่สะดวกและเกิดประโยชน์ต่อผู้โดยสารสูงสุด โดยเฉพาะรถไฟสายสีแดงที่มีการเปิดให้บริการจากสถานีกลางบางซื่อก็สามารถเชื่อมต่อกับบขส.ได้ หากมีการย้ายพื้นที่ออกไปอยู่ด้านนอก จะทำให้การจราจรติดขัด ทั้งนี้คาดว่าในอนาคตจะมีรถชัตเตอร์บัสเข้ามาให้บริการร่วมด้วย 
    

 

“เรามองว่าหากมีการย้ายบขส.กลับมาอยู่บริเวณสถานีหมอชิตเก่าที่อยู่ใกล้รถไฟฟ้าบีทีเอส จะมีการใช้วงเงินลงทุนที่สูงมาก อีกทั้งเอกชนยังไม่มีความชัดเจนว่าจะลงทุนและเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้เมื่อไร”