จับวาระการประชุมวุฒิสภา(สว.) ครั้งที่ 28 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2568 เวลา 09.30 น. เป็นต้นไป มีวาระเกี่ยวกับนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment Complex ที่จะมีการนำมาหารือในที่ประชุมสว.
โดยวาระสถานบันเทิงครบวงจร ถูกบรรจุเป็น 2 ใน 4 ของเรื่องด่วนที่อยู่วาระ คือ
1. ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด
2. ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ....
3. เรื่อง ขอเสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงแบบครบวงจร (Entertainment Complex)
4. เรื่อง ขอเสนอญัตติให้วุฒิสภาพิจารณาผลกระทบจากการดำเนินการเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. ....
ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบข้อมูลผ่านสำนักเลขาธิการวุฒิสภา พบข้อมูลที่มาของวาระดังกล่าว พบว่าเป็นเรื่อง "ขอเสนอญัตติให้วุฒิสภาพิจารณาผลกระทบจากการดำเนินการเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. ....."
วาระดังกล่าว ถูกเสนอเข้ามาโดย นายวีระพันธ์ สุวรรณนามัย สมาชิกวุฒิสภา ที่ทำหนังสือถึงประธานวุฒิสภา วันที่ 31 มีนาคม 2568 เนื้อหาระบุว่า
ตามที่ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. ... ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว และอยู่ระหว่างกระบวนการตรากฎหมายเพื่อใช้บังคับต่อไป
กฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการควบคุม การจัดระเบียบ
และการอนุญาตให้มีการดำเนินธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร อันอาจส่งผลกระทบต่อสังคมเศรษฐกิจ ศีลธรรม และสุขภาวะของประชาชนในวงกว้าง
อีกทั้งเนื้อหาบางส่วนในร่างกฎหมาย ดังกล่าวยังมีข้อกังวลจากหลายภาคส่วนในสังคม ทั้งในเรื่องการขยายเวลาทำการของสถานบันเทิงครบวงจร การกำหนดพื้นที่อนุญาตให้ดำเนินกิจการ การควบคุมอายุผู้เข้าใช้บริการ การบังคับใช้กฎหมายในทางปฏิบัติ ตลอดจนผลกระทบต่อเยาวชน ครอบครัว และภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีระหว่างประเทศ
ดังนั้น เพื่อให้วุฒิสภาได้มีโอกาสในการอภิปรายให้ข้อสังเกตและเสนอแนะ รวมถึงแนวทางดำเนินการที่เหมาะสม เสนอไปยังรัฐบาลเพื่อพิจารณาดำเนินการอย่างรอบคอบ และเป็นการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนก่อนการดำเนินการในขั้นต่อไป
ด้วยเหตุผลข้างต้น จึงขอเสนอญัตติตามนัยแห่งข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2566 ข้อ 35 เพื่อให้ที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณาญัตติดังกล่าว และมีมมีมติส่งข้อสังเกตหรือข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป