นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย วิเคราะห์ สถานการณ์และราคายาง ในไตรมาสที่ 3/2565 ปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลก World bank & OECD GDP Projections in 2002 ประกาศ ค่า PMI ประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วงเดือน ก.ค. 2565 อยู่ที่ 52.20 ประเทศจีน 49.00 ประเทศญี่ปุ่น 52.10 และ ยุโรป อยู่ที่ 49.80 เนื่องจากความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน มาตรการ Zero Covid ของจีน และความขัดแย้งระหว่าง ไต้หวัน จีน และสหรัฐ การดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวของธนาคารกลางเศรษฐกิจหลักเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ปริมาณการผลิตและการใช้ยางธรรมชาติของโลก
ทาง ANRPC วิเคราะห์สถานการณ์ว่า ปริมาณการผลิตในปี 2565 อยู่ที่ 14.420 ล้านตัน และปริมาณการใช้ยางในปี 2565 อยู่ที่ 15.204 ล้านตัน เนื่องจากคาดว่าการดำเนินนโยบายการลดภาษีในรถใหม่ของจีน ทำให้ยอดขายรถเพิ่มขึ้น 24 % และความมุ่งมั่นในการลดคาร์บอนของอุตสาหกรรมยานยนต์ทำให้การผลิตรถ EV เพิ่มขึ้น โดย ANRPC คาดว่าความต้องการยางจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4 %
ส่วนปริมาณผลผลิตยางภายในประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้ปรับลดคาดการณ์ผลผลิตยางลง 1 % จากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี ซึ่งเมื่อคิดผลผลิตยางเป็นเนื้อยางแห้งเท่ากับ 4.799 ล้านตัน เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกยางไปปลูกพืชชนิดอื่นโดยเฉพาะทุเรียน และปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น เพราะปีนี้ยังอยู่ในภาวะลานินญ่า
ส่วนในช่วงของเดือนสิงหาคม - กันยายน เป็นช่วงที่เกิดฝนตกชุก เพราะฉะนั้นเกษตรกรต้องระวังเรื่องน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะในพื้นที่ ภาคเหนือ อีสาน และตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางสำคัญ
นางสาวอธิวีณ์ กล่าวว่า ด้านการส่งออก คาดว่าจะอยู่ที่ 4.275 ล้านตัน โดยการส่งออกในช่วงของปลายปี ยังอยู่ในระดับเดียวกับปีก่อน สำหรับอุตสาหกรรมที่ยังใช้ยางเป็นหลัก ในส่วนของอุตสาหกรรมยางล้อ ในช่วงไตรมาสที่ 1 ในปีนี้ สหรัฐมีมูลค่าการนำเข้ายางยานพาหนะเพิ่มขึ้น 31 % ในส่วนของถุงมือยางซึ่งมีการใช้ถุงมือยางมากกว่าปกติในช่วงโควิด ตั้งแต่ปี 2020 - 2021 ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปีนี้
สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางมาเลเซีย (MARGMA) คาดการณ์ว่าถุงมือยางยังคงขยายตัว 10-12 % จากภาวะปกติก่อนเกิดโควิดดังนั้น ในส่วนของแนวโน้มยางพารา จากการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น อาทิ การท่องเที่ยว การเดินทาง และการขนส่ง ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งยางเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งเส้นด้ายยางยืด หรือล้อรถยนต์ คาดว่ามีโอกาสที่จะมีการใช้เพิ่มมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ราคายางก็ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ซึ่ง กยท. ก็มีมาตรการ ต่างๆ ที่จะเข้ามาดูแล ทั้งเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง โดยมี โครงการ โครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง,โครงการชะลอยาง,โครงการสินเชื่อผู้ประกอบกิจการยางแห้ง และโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง