นางสาวกนิษฐา กังสวนิช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เผยว่า ลำไยเบี้ยวเขียวลำพูน เป็นสินค้า GI ไทยที่มีชื่อเสียง ด้วยคุณภาพความอร่อยที่เป็นเอกลักษณ์ เนื่องจากพื้นที่ปลูกและพัฒนาลำไยมาเป็นเวลากว่า 100 ปี พื้นที่เพาะลำไยเบี้ยวเขียวลำพูน เป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ และที่ราบขั้นบันไดระดับต่างๆ
ช่วงฤดูหนาวมีอุณหภูมิต่ำ เหมาะต่อการแทงช่อดอกลำไย เพาะปลูกในพื้นที่ 6 ตำบลของอำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ได้แก่ ตำบลหนองช้างคืน, ตำบลอุโมงค์, ตำบลเหมืองง่า, ตำบลต้นธง ,ตำบลริมปิง และตำบลประตูป่า ส่งผลให้ลำไยเบี้ยวเขียวลำพูนกลายเป็นสินค้าที่ได้รับนิยมของผู้บริโภคในประเทศโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้มุ่งเน้นให้ความสำคัญในการผลักดันการจัดทำระบบควบคุมตรวจสอบคุณภาพสินค้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในชุมชนมากกว่า 2 ล้าน บาท/ปี
ล่าสุดกรมฯได้ ร่วมกับ ท็อปส์ สานต่อความสำเร็จจากโครงการส่งเสริมช่องทางการตลาดสินค้า GI ไทย เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน เดินหน้าคัดสรรผลไม้ GI ไทยส่งตรงจากสวนพร้อมจำหน่ายที่ ท็อปส์, เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ สาขาที่ร่วมรายการ และ “ตลาดจริงใจ Farmers’ Market” ตลาดค้าปลีกสินค้าทางการเกษตรรูปแบบใหม่
เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและส่งเสริมผู้บริโภคให้เข้าถึงสินค้าที่มีคุณภาพจากชุมชนผู้ผลิตโดยตรง ล่าสุด กรมฯ พร้อมทีมงานจัดซื้อของท็อปส์ มีกำหนดลงพื้นที่สวนลำไยเบี้ยวเขียวลำพูน ณ จังหวัดลำพูน คัดเลือกลำไยเกรดพรีเมี่ยม จากสวนโดยตรงส่งพร้อมจำหน่ายราคากิโลกรัมละ 120 - 160 บาท
นอกจากนี้ “กระเทียมลำพูน” จะเป็นสินค้าอนาคตที่จะได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จึงได้ไปเยี่ยมชมแหล่งผลิตสินค้ากระเทียมลำพูน เพื่อเป็นการช่วยส่งเสริมสินค้าที่มีศักยภาพ ที่สามารถจะขึ้นทะเบียน (GI) ในอนาคตได้
ด้าน นายสมนึก ยอดดำเนิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายปฏิบัติการจัดหาแหล่ง และพัฒนาคุณภาพสินค้า เกษตรกร ชุมชนในท้องถิ่น บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล เปิดเผยว่า เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากผ่านการรับซื้อตรงผลผลิตทางการเกษตรซึ่งเป็นนโยบายหลักของบริษัทฯ โดยมีทีมจัดซื้อประจำภูมิภาคลงพื้นที่และทำงานอย่างใกล้ชิดกับเกษตรกรและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อคัดสรรสินค้าที่ดี มีคุณภาพ นำมาจำหน่าย ส่งตรงถึงมือผู้บริโภคในราคาที่เหมาะสม โดยเฉพาะการร่วมสนับสนุนสินค้า GI ซึ่งเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น