“ โครงการบรรเทาอุทกภัยเพชรบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ"
ได้ต่อยอดมาจากพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ให้เราใช้คลองส่งน้ำที่มีอยู่เดิมทำหน้าที่ระบายน้ำด้วย ปัจจุบันได้ทำแผนเป็น 2 ระยะ โดยระยะเร่งด่วนเพิ่มคลองสาย 3 ระบายน้ำได้กว่า 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ซึ่งเพียงพอส่วนหนึ่งแต่จะให้ได้ 100% จะต้องใช้คลองสายใหญ่ระบายน้ำอีกสายหนึ่งจะระบายน้ำได้รวมทั้งหมด 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อออกสู่ทะเลบริเวณตำบลบางเก่า ก็จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของเมืองเพชรได้ ”
นายสันต์ จรเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเพชรบุรี เปิดเผยในโอกาสที่พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังเขื่อนเพชร ต.ท่าคอย อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เพื่อรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน
และความก้าวหน้าของโครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา
จังหวัดเพชรบุรี ตั้งอยู่ในแนวร่องน้ำผ่านของลุ่มน้ำเพชรบุรี เมื่อเกิดฝนติดต่อกันนาน 48 ชั่วโมงขึ้นไป จะทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากล้นตลิ่งเกิดเป็นอุทกภัยสร้างความเสียหายอย่างรุนแรง เนื่องจากไม่มีระบบระบายน้ำลงสู่ทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร" จึงพระราชทานพระราชดำริการแก้ไขปัญหาดังกล่าวตั้งแต่ปี 2542 และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์นุเคราะห์ เพื่อก่อสร้างประตูระบายน้ำราชประชานุเคราะห์ 4 ถึง 12 และระบบน้ำล้นราชประชานุเคราะห์ 13
ต่อมาในปี พ.ศ.2548 คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ได้สนับสนุนงบประมาณแก่กรมชลประทาน ทำการการขุดลอกคลองต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมโยธาธิการและผังเมือง ก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี กองพลพัฒนาที่ 1 กรมการทหารช่างและกรมเจ้าท่า ขุดลอกและขยายแม่น้ำเพชรบุรีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
ปัจจุบันสำนักงาน กปร. และกรมชลประทานร่วมกันสนองพระราชดำริในการสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริ ดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น โดยปรับปรุงคลองระบายน้ำและคลองส่งน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพของอ่างเก็บน้ำอีกจำนวน 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน โดยเสริมสันทางน้ำล้น (Spillway ) และอ่างเก็บน้ำแม่ประจันต์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
พร้อมขุดลอกอ่างเก็บน้ำและลำห้วยต่าง ๆ รวมทั้งก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำห้วยแม่ประจันต์ ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ หากแล้วเสร็จจะช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่อำเภอเมืองเพชรบุรี และพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยเป็นประจำได้
“น้ำที่ใช้ในภาคการเกษตรของจังหวัดเพชรบุรีจะได้รับจากเขื่อนเพชรมาโดยตลอด และน้ำจากคลองที่ขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้น ทำให้สามารถเพิ่มการส่งน้ำเข้าไปในคลองสายหลักมากขึ้น นับเป็นการได้ประโยชน์ทั้ง 2 ทาง คือระบายน้ำออกสู่ทะเลช่วงน้ำหลากได้เร็วขึ้น และเพิ่มพื้นที่ทำการเกษตรในช่วงหน้าแล้งได้มากขึ้น” นายสันต์ จรเจริญ กล่าว
ทั้งนี้จะมีประชาชนได้รับประโยชน์ จำนวน 41,875 ครัวเรือน ช่วยเพิ่มศักยภาพในการใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรมใน อ.ท่ายาง อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ประมาณ 10,000 ไร่ และเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่ 5 ตำบล 2 อำเภอ ได้แก่ ต.ท่าไม้รวก ต.ท่าคอย อ.ท่ายาง และ ต.ดอนขุนห้วย ต.นายาง ต.บางเก่า อ.ชะอำ
พร้อมกันนี้องคมนตรี ได้ให้ข้อเสนอแนะถึงแนวทางการขับเคลื่อนโครงการให้แล้วเสร็จเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ราษฎรโดยเร็ว และเผยว่าเขื่อนฯแห่งนี้สร้างแล้วเสร็จ พ.ศ. 2493 ยังใช้งานได้ดี และเป็นประโยชน์แต่เมื่อเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป จากการติดตามเพื่อใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมหลังจากได้ปรึกษาหารือกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็เห็นว่าควรมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์จากเขื่อนแห่งนี้ ที่สำคัญจะต้องมีการระบายน้ำไปลงทะเลให้เร็วที่สุด
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยเกี่ยวกับเรื่องน้ำท่วมและฝนแล้งในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ คณะกรรมการฯ ก็มาปฎิบัติภารกิจนี้ เพื่อติดตามการดำเนินงาน และถวายรายงานความคืบหน้าเหล่านี้แก่พระองค์ท่าน ทั้งนี้ก็เพื่อประชาชนชาวเพชรบุรีจะได้ไม่ต้องเจอกับอุทกภัยกันอีกต่อไป ท่านทรงห่วงใยจริงๆ และผู้เกี่ยวข้องขณะนี้ก็พยายามอย่างเต็มที่ในการที่จะช่วยเหลือประชาชน” องคมนตรีกล่าว