ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายภิรม หนูรอด ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จังหวัดตรัง เรียกประชุมด่วนเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาว สวนยาง ทั้ง 50 แห่ง ในจ.ตรัง ผู้บริหารการยางรับผิดชอบทั้ง 10 อำเภอของจ.ตรัง รวม 6 สาขา เจ้าหน้าที่การเงิน รวมทั้งฝ่ายธุรการของ กยท.ทุกสาขา ร่วมพิจารณาวาระโครงการชะลอการขายยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 ในตลาดกลางยางพารา
หลังพบว่า ล่าสุดในช่วง 5 วันทำการของสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มทุนรวมหัวกันทุบราคายางแผ่นรมควัน ชั้น 3 ดิ่งลงมากถึง 11 บาท จากราคากก.ละ 61 บาท มาปิดตลาดสุดสัปดาห์ (ศุกร์ที่ 19 ส.ค.) เหลือเพียงประมาณกก.ละ 50 บาทเท่านั้น สร้างความเดือดร้อนชาวสวนยางอย่างหนัก
นายภิรม หนูรอด ผอ. กยท.ตรัง กล่าวว่า ที่ประชุมทั้งหมดลงมติเห็นชอบ โครงการชะลอการขายยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 นำร่องในตรัง แบ่งพื้นที่ตาม 7 สถาบันแม่ข่าย ครอบคลุมทั้ง 10 อำเภอ มีห้องควบคุมความชื้น พร้อมรับฝากยางจากสถาบันเกษตรกรสมาชิกทั้ง 50 แห่ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค. 2565 เป็นต้นไป จากนี้ กยท.จะดูด้านราคา ถ้าราคายางดีก็จะเสนอขายผ่านตลาดกลาง แต่ถ้าราคาไม่ดีจะยังไม่ขาย รอจังหวะและโอกาส โดยครั้งนี้รวมกลุ่มกันทั้งจังหวัด ไม่ใช่ต่างคนต่างขายเหมือนที่ผ่านมา
วิธีการคือ เมื่อสหกรณ์สมาชิกนำยางเข้าฝากไว้กับสถาบันแม่ข่ายในแต่ละวัน ทาง กยท.จะโอนเงินค่ายางให้แก่สถาบันเจ้าของยาง เป็นเงิน 80% ของราคายางในวันนั้นผ่านสถาบันแม่ข่าย หากช่วงไหนยางราคาดี กยท.ก็จะเสนอขายยางผ่าน ตลาดกลาง ได้กำไรเท่าไรก็ยกให้สหกรณ์สมาชิก พร้อม 20% ที่ยังค้างอยู่ โดยหักให้สถาบันแม่ข่ายรับฝากยางกิโลกรัมละ 50 สตางค์ เป็นค่าบริหารจัดการ
หากราคาไม่ดีจะเก็บไว้จนกว่าจะได้ราคาที่พอใจ แต่หาก ผ่านไป 1 เดือน ราคายางยังตํ่ากว่าราคายางที่รับฝาก ทาง กยท.จะรับผิดชอบค่ารับฝากยางกก.ละ 50 สตางค์ให้แก่สถาบันแม่ข่าย และโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางของ กยท.จะรับซื้อยางทั้งหมดในราคารับฝาก เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร หรือหลังจากนี้เครือข่ายจะขายตรง กับบริษัท ทั้งในและต่างประเทศผ่านตลาดกลาง โดยจะดึงหน่วย BU ให้ทำหน้าที่ตัวเอง
“เชื่อว่าหาก 5 เสือการยาง ขาดแคลนยางที่จะส่งมอบในตลาดล่วงหน้า จะเกิดการแย่งซื้อ ทำให้อำนาจต่อรองราคายางที่เป็นธรรม กลับมาอยู่ในมือของเกษตรกร และจะขยายให้ทั่วภาคใต้ ซึ่งแต่ละวันจะสามารถดูดซับปริมาณยางออกจากตลาดกลางเข้าจัดเก็บชะลอขายได้ไม่ตํ่ากว่า 10,000 ตัน/วัน เฉพาะ จ.ตรัง เริ่มต้นที่วันละประมาณ 1,000 ตัน เชื่อจะทำให้ราคายางดีขึ้นอย่างแน่นอน"
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สหกรณ์การเกษตรทุ่งยาว จำกัด ต.ทุ่งยาว อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ซึ่งรวบรวมนํ้ายางสดจากสมาชิกส่งขายโรงงาน รวมทั้งนำนํ้ายางที่ไม่ได้คุณภาพโรงงาน มาแปรรูปทำเป็นยางแผ่นดิบ ได้ริเริ่มโครงการชะลอขายยางเป็นแห่งแรกของจ.ตรัง มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีกยท.สาขาปะเหลียน เข้ามาเป็นพี่เลี้ยง
นายสมพล เก้าเอี้ยน ประธานสหกรณ์การเกษตรทุ่งยาว กล่าวว่า มีห้องควบคุมความชื้นสำหรับเก็บยางแผ่นรมควัน จากสหกรณ์สมาชิก 14 แห่ง เพื่อทำโครงการชะลอการขายยาง สมาชิกร่วมลงทุนกันเองส่วนหนึ่ง และได้รับงบสนับสนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์อีกส่วนหนึ่ง สามารถเก็บยางชะลอขายได้จำนวน 150 ตัน โดยเริ่มทดลองการจัดเก็บและชะลอขายมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ บางครั้งรับฝากในราคากก.ละ 68 บาท ชะลอขายไป 7 วัน ได้ในราคากก.ละ 71 บาท
โครงการนี้เป็นเหมือนโครงการแก้มลิงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เก็บยางเอาไว้ รอช่วงราคาดีค่อยปล่อยขาย หากร่วมมือกันทั้งภาคใต้ ชาวสวนยางจะได้ราคาที่เป็นธรรม สะท้อนราคาที่แท้จริง ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากโรงงาน เกิดการจัดระเบียบตลาด มีการปรับสมดุลด้านการค้า โดยเอาภาวะตลาดเป็นตัวชี้นำการผลิต ซึ่งต้องทำต่อเนื่องไม่เฉพาะช่วงยางขาลง เกิดความมั่นคงกับเกษตรกร ยางทั้งระบบ
พร้อมนำผู้สื่อข่าวพิสูจน์คุณภาพยางที่เก็บไว้ในห้องควบคุมความชื้น ตามโครงการชะลอขายยางมาเป็นระยะเวลากว่า 2 เดือน พบว่าคุณภาพยางยังคงเป็นปกติ สามารถนำไป อัดก้อน หรือขายยางเปลือยได้ตามปกติ
ด้านนายวิรัตน์ อันตรัตน์ ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จังหวัดตรัง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กยท.ควรทำให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่ประกันรายได้ยางแผ่นที่ขั้นตํ่ากก.ละ 60 แต่โครงการชะลอการขายยางครั้งนี้ กยท. ให้ราคา 80% ของราคาตลาด ซึ่งไม่แน่นอน หากเป็นไปได้ควรยึดที่ขั้นตํ่าราคารับประกัน ซึ่ง 80% ก็จะตกกิโลกรัมละ 48 บาท ให้ประกาศเป็นราคาเดียวกันทั้งประเทศ
เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ราคาวัตถุดิบต่างๆ ปรับตัวสูง ต้นทุนยางอยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาท รัฐบาลจึงควรเข้ามาดูแลร่วมโครงการชะลอการขายยางกับทาง กยท. เพื่อรักษาเสถียร ภาพราคายาง เพราะ กยท. มีงบประมาณจำกัด
ธีมดี ภาคย์ธนชิต/รายงาน
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,813 วันที่ 28-31 สิงหาคม พ.ศ.2565