ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 30 ส.ค.65 ที่ผ่านมา กรมชลประทานได้เปิดเผยภาพและรับแจ้งเหตุว่า ที่จังหวัดกำแพงเพชร "ฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง" โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัว ต.เทพนคร อ.เมือง จ.กำแพงเพชร หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าฝายวังบัวเกิดแตกรพังเสียหาย ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำ ไหลผ่านช่องทางน้ำไหลอย่างรวดเร็ว
สำหรับฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัว เชื่อมต่อระหว่าง บ้านโขมงหัก ต.เทพนคร-บ้านวังยาง ต.นครชุม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร เกิดชำรุดเสียหาย
เนื่องจากหินทิ้งที่กั้นขวางทางน้ำปิง เกิดทรุดตัวทำให้แรงดันน้ำพัดหินทิ้งพังทลายลง จึงมีช่องทางน้ำไหลเป็นบริเวณกว้าง จุดที่ชำรุดเสียหายมีความกว้างประมาณ 40 เมตร
ทั้งนี้เมื่อเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมาเคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นแล้วครั้งหนึ่ง และได้ซ่อมแซมฝายดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย ก่อนจะมาเกิดเหตุขึ้นอีกรอบในครั้งนี้ ขณะนี้กำลังรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการสำรวจความเสียหายและซ่อมแซมต่อไป
ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากฝนที่ตกชุกสะสมในพื้นที่ตอนบน บริเวณจังหวัดลำปาง เเพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่าไหลลงสู่แม่น้ำสายหลักอย่างต่อเนื่อง
ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจุบัน (30 สิงหาคม 2565) เวลา 06.00 น. ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,762 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที (วานนี้ 1,678 ลบ.ม./วินาที) ต่ำกว่าตลิ่ง 3.84 เมตร แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ก่อนปริมาณน้ำนี้จะไหลไปรวมกับน้ำที่มาจากเเเม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขา และไหลลงสู่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา
สำนักงานชลประทานที่ 12 ได้ทยอยปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จากเดิมอัตรา 1,649 ลบ.ม./วินาที เป็นอัตรา 1,660 ลบ.ม./วินาที โดยจะเริ่มตั้งแต่วันนี้ เวลา 16.00 น. และจะทยอยปรับการระบายน้ำอย่างต่อเนื่องไปจนถึงเกณฑ์ 1,700 ลบ.ม./วินาที เวลาประมาณ 09.00 น. ของวันพรุ่งนี้ (31 ส.ค. 65)
ส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อชุมชนบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ดังนี้
ด้านเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ปัจจุบันน้ำไหลลงอ่างฯ มีแนวโน้มลดลง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ ได้ปรับลดการระบายน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างฯ ตามเกณฑ์ที่เหมาะสมในอัตรา 300 ลบ.ม./วินาที (จากเดิม 430 ลบ.ม./วินาที)
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ทยอยปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำฝน-น้ำท่า อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลอ่าวไทย ลดผลกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุด จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิด จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน