นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจปี 65 โดยคาดว่าเทศกาลกินเจในปีนี้จะมีเงินสะพัดราว 42,235 ล้านบาทเพิ่มขึ้นปีก่อน 5.2% % ซึ่งมีเงินสะพัดราว 40,147 ล้านบาท โดยปีนี้ถือเป็นการเพิ่มขึ้นในรอบ 12 ปี ตั้งแต่ปี 52
ทั้งนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ จำนวน1,250ราย ในปีนี้จะกินเจในช่วงเทศกาลกินเจหรือไม่พบว่า ประชาชน 66% ระบุว่า จะไม่กินเจ สาเหตุคืออาหารเจแพง เศรษฐกิจไม่ดี, ไม่ตั้งใจจะกิน และที่บ้านไม่มีใครกินเจ ขณะที่ประชาชนอีก 34% ระบุว่าจะกินเจ เพราะกินเฉพาะเทศกาล, ตั้งใจทำบุญ และกินตามคนที่บ้าน หรือคนรอบข้าง
ส่วนพฤติกรรมการกินเจในครั้งนี้ ประชาชน 81.3% ระบุว่าจะกินตลอดช่วงเทศกาลคือตั้งแต่ 26ก.ย.-4ต.ค. 65 ขณะที่ประชาชนอีก 18.7% ระบุว่าจะกินเจเฉพาะบางมื้อ โดยช่องทางในการเลือกซื้ออาหารเจ ส่วนใหญ่ตอบว่าเป็นการซื้อด้วยตนเอง 91.8% เพราะมีโครงการช่วยเหลือของภาครัฐ อย่างคนละครึ่ง และร้านสะดวกซื้อมีการจัดโปรโมชั่น สำหรับราคาวัตถุดิบ ประชาชนมองว่าราคาจะแพงกว่าปีที่แล้ว 62.2% ในขณะที่อีก 37.8 % มองว่าราคาจะเท่ากับปีที่แล้ว
จากการสอบถามเรื่องความคึกคักของเทศกาลกินเจ คาดว่า ไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อน 53.5% ในขณะที่ 26.2% มองว่าจะลดลงจากปีก่อน เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจไม่ดี และค่าครองชีพสูง ของแพง รายได้ลด อาหารเจแพง
ส่วนการสำรวจความเห็นทั่วไปเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของไทยจะฟื้นตัวเมื่อใดนั้น พบว่า 75.1% มองว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในครึ่งปีหลังของปี2566 และ16.1% มองว่าจะฟื้นตัวในไตรมาส2/66
และ1.9%มองว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในสิ้นไตรมาส4/65 สิ่งที่ประชาชนต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือเพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ คือแก้ปัญหาค่าครองชีพ ต้องการเงิช่วยเหลือ พัฒนาโครงการพื้นฐาน หางานให้ผุ้ที่ตกงาน กระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และสิ่งที่ต้องการเห็นมากคือการเมืองมีเสถียรภาพ