ไทยวา ปักธงรบปีนี้ผู้นำธุรกิจวุ้นเส้น-แป้งมัน ทุ่มงบลงทุน 2,000 ล้านบาท โตในเอเชีย ขยายกำลังผลิตและตลาดใน CLMV เล็งควบรวม-ซื้อกิจการต่อยอดธุรกิจ
นายโฮ เรน ฮวา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัทไทยวา (TWPC) ชาวสิงคโปร์ วัย 35 ปี บุตรนายโฮ กวงปิง และหลานชาย นายโฮ กวง จิง เป็นทายาทรุ่น 3 ผู้สานต่อกิจการ บริษัท ไทยวา (TWPC) เปิดตัวด้วยแผนงานปีนี้ที่จะขยายกำลังการผลิตแป้งมันและวุ้นเส้น การควบรวมกิจการ และการขยายลงทุนไปในภูมิภาค CLMV รวมทั้งการลงทุนพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นในกลุ่มอาหารและแป้งมัน เช่น การขายตรงผู้บริโภครายย่อย
ก่อนจะมาเป็น TWPC ผู้นำธุรกิจวุ้นเส้น แป้งมันสำปะหลัง และสารให้ความหวาน เป็นบริษัทที่เกิดจากการควบรวมกิจการ ระหว่าง ไทยวาสตาร์ช (TWS) ผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังแบรนด์NEW GRADE (นิวเกรด) และ ไทยวาฟูดโปรดักส์ (TWFP) เบอร์ 1 วุ้นเส้นแบรนด์มังกร และ กิเลนคู่ เสร็จสิ้นเมื่อต้นเดือนตุลาคม ปี 2558
ดีกรีความรู้ปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ การเงินและการจัดการ เกียรตินิยมวอร์ตัน สกูล มหาวิทยาเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ของ โฮ เรน ฮวา ที่นำมาพัฒนาสานต่อ TWPCมีนัยสำคัญไม่น้อย อย่างน้อย 3-5 ปี การทำให้บริษัทแห่งนี้ มีการติบโตมั่นคงยั่งยืนซึ่งเป็นเป้าหมายที่ โฮ เรน ตั้งเป้าไว้รวมทั้งมีเป้าหมายเป็นผู้นำบริษัทขนาดเล็ก ที่ภายใน 3 ปี หรือปี 2562 พยายามทำรายได้ระดับ 1 หมื่นล้านบาท จากปี 2559 มีรายได้ 6.3 พันล้านบาท
“ ทฤษฎีได้จากการศึกษา 50% อีก 50% มาจากการฝึกฝนเรียนรู้ในสิ่งที่ยังไม่รู้ ปัจจุบันทุกอย่างเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยี การเป็นซีอีโอรุ่นใหม่ ต้องมีการพัฒนาเรียนรู้ตลอดเวลา”
ตามแผนปี 2560 “โฮ เรน ฮวา “ ปักธงเป็นผู้นำธุรกิจวุ้นเส้นและแป้งมันสำปะหลัง ใน CLMVด้วยเงินลงทุน 1-2 พันล้านบาท ประเดิมที่ประเทศเวียดนาม โรงงาน ไทยวาเวียดนาม โรงงานวุ้นเส้นแห่งแรกในโฮจิมินห์ เริ่มผลิตวุ้นเส้นไตรมาส 3 / 2560 นี้ และโรงงานผลิตมันเส้นที่กัมพูชา สิ้นปี เพื่อส่งไปจำหน่ายประเทศจีน ซึ่ง TWPC มีบริษัทย่อยอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เสริมการจำหน่ายตรงให้กับลูกค้าในจีน ที่เป็นตลาดเติบโตสูงถึง 60% ของการส่งออกในแบรนด์ แป้งมันและสาคู ROSEBRANDที่เหลือ 30% เป็นไต้หวัน อีก 10% แบ่งไปยุโรป และสหรัฐฯ
โดยสินค้าส่งออกทั้งหมดเป็นแป้งมันล้วน ๆ ซึ่งเป็นสินค้าหลักของการส่งออก ขณะที่สินค้าแป้งมัน-วุ้นเส้น มีตลาดในประเทศเพียง 40% เท่านั้น ที่เหลือ 60 % เป็นแป้งมันส่งออก
นอกจากนี้มีแผนเปิดโรงงานที่ประเทศลาว และสาธารณรัฐเมียนมา ด้วย รวมทั้งการซื้อหรือควบรวมกิจการ (M&A) เพื่อต่อยอดธุรกิจ โดยการลงทุนซื้อกิจการที่มีขนาดไม่ใหญ่ใน CLMV ภายในปีนี้และปีนี้ จำนวน 2 ดีล ใช้เงินทุน ไม่เกิน 1,700 ล้านบาท โดยรักษาผลตอบแทนจากการลงทุน ( ROI ) ไม่ให้น้อยกว่า ROE ที่อยุ่ 13.60 % และ ROA 15.06 %
ปัจจุบันนอกจาก TWPC มีโรงงานผลิตแป้งมัน 2 แห่งในประเทศแล้ว บริษัท ยังลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลจากมันสำปะหลัง จำนวน 3 โรง ที่จังหวัดอุดรธานี , กาฬสินธ์ และนครราชสีมา กำลังผลิตทั้ง 3 โรงจำนวน 8 เมกะวัตต์ เพื่อใช้ในโรงงานของ TWPC ทั้งหมด ภายในไตรมาส 3 ปีนี้โรงไฟฟ้าที่อุดรธานี สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ 2.8 เมกะวัตต์ จะช่วยลดต้นทุน 30 ล้านบาทต่อปี หากทั้ง 3 โรงจ่ายไฟฟ้าได้ จะช่วยลดต้นทุนการใช้ไฟฟ้าได้ปีถึงปีละ 100 ล้านบาท
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,242 วันที่ 9 - 11 มีนาคม พ.ศ. 2560