‘KTBST’พร้อมเข้าตลท.เตรียมระดมทุน200ล้านบาท ตั้งเป้ากำไรปี62โตเท่าตัว

23 ธ.ค. 2561 | 05:22 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ธ.ค. 2561 | 12:22 น.
 

KTBST เร่งเพิ่มสัดส่วนลูกค้าสถาบันเป็น 30-40% ชี้การแข่งขันค่าคอมมิสชันรุนแรง แต่มั่นใจกำไรเติบโตเท่าตัว ต้นปี 62 พร้อมยื่นไฟลิ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ระดมทุน 200 ล้านบาทต่อยอดธุรกิจ

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ค่าธรรมเนียมจากนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) สัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเป็น 50-60% จากปัจจุบันสัดส่วนอยู่ที่ 45-50% โดยในปี 2562มองว่าธุรกิจโบรกเกอร์ยังเติบโตต่อไปได้ แม้ว่าภาพรวมการแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะการแข่งขันลดค่าคอมมิสชัน แต่จะเห็นว่าค่าเฉลี่ยคอมมิสชันของบริษัทจะค่อนข้างดีกว่าอุตสาหกรรม

สำหรับสัดส่วนรายได้จากธุรกิจโบรกเกอร์ในปี 2562 จะเติบโตมาจากลูกค้าสถาบันและลูกค้ารายใหญ่ ขณะที่รายย่อยจะค่อนข้างทรงตัว ส่งผลให้สัดส่วนรายได้ที่มาจากลูกค้าสถาบันจะขยับเพิ่มขึ้นเป็น30-40% จากในปี 2561 สัดส่วนอยู่ที่ 20-25% และสัดส่วนรายได้จากลูกค้ารายย่อยปรับลดลงเหลือราว 70% จากปัจจุบันอยู่ที่ 75-80% สอดคล้องตามปริมาณซื้อขายของตลาดที่น่าจะทรงตัว ซึ่งจะเห็นว่าในช่วง 3 เดือนสุดท้าย (ตุลาคม-ธันวาคม) ของปีนี้จากปริมาณการซื้อขายอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาทต่อวัน ลดลงจากระดับปกติที่อยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาทต่อวัน ทำให้ในปี 2562 อาจจะค่อนข้างเหนื่อย จึงต้องรอดูปัจจัยหลังจากนี้ด้วย

 

[caption id="attachment_364825" align="aligncenter" width="503"] วิน อุดมรัชตวนิชย์ วิน อุดมรัชตวนิชย์[/caption]

บริษัทตั้งเป้ารายได้ในปี 2562 อยู่ที่ 1,300-1,400 ล้านบาท เติบโตประมาณ 25% และกำไรก่อนหักภาษีคาดว่าจะเติบโต 1 เท่าจากปี 2561 เป็น 150-160 ล้านบาท จากปีนี้ที่คาดว่าจะมีกำไรราว 80 ล้านบาท โดยรายได้ค่าธรรมเนียมหลักจะมาจากธุรกิจที่ปรึกษา เนื่องจากมีบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นครั้งแรก (IPO) ประมาณ 4-5 ราย และดีลการควบรวมกิจการ (M&A) และซื้อขายกิจการ (Take Over) มีมากขึ้น น่าจะส่งผลดีต่อรายได้ค่าธรรมเนียม

บริษัทมีแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) ภายในปี 2562 โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยคาดจะยื่นไฟลิ่งได้ช่วงต้นเดือนมกราคม 2562 นี้ ซึ่งจะระดมทุนไม่เกิน 200 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปใช้ขยายธุรกิจ ควบคู่การพัฒนาระบบการให้บริการ โดยมีที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) คือ บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ซึ่งจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 16 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 10 บาทต่อหุ้น

ทั้งนี้ ภายหลังจากการเสนอขาย IPO แล้ว จะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นมีการเปลี่ยน แปลงไป โดยกลุ่ม KTB Investment & Securities (เกาหลีใต้) จะมีสัดส่วนการถือหุ้นลดลงมาอยู่ที่ 55% จากปัจจุบันอยู่ที่ 70% และนายวิน อุดมรัชตวนิชย์ จะมีสัดส่วนการถือหุ้นลดลงมาเป็น 13% จากปัจจุบันที่ถือหุ้นอยู่ที่ 30% ซึ่งยังคงถือหุ้นเป็นอันดับที่ 2 รองจากผู้ถือหุ้นใหญ่เช่นเดิม และหลังจากที่บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯแล้วจะมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วรวมเกือบ 1,000 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 670 ล้านบาท

ผลการดำเนินงาน ณ เดือนพฤศจิกายน 2561 บริษัทมีรายได้รวม 1,074.8 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 30% และมีกำไรก่อนหักภาษี 76.7 ล้านบาท หรือเติบโต 122% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้สัดส่วนรายได้หลักมาจากค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ 
49% และค่าธรรมเนียมจากธุรกิจบริการอื่นๆ 34% อาทิ ที่ปรึกษาการเงิน ตัวแทนซื้อขายหน่วยลงทุนบริการกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) และรายได้ดอกเบี้ย ที่มีสัดส่วนราว 15% มาจากดอกเบี้ยและเงินปันผล ดอกเบี้ยจากบัญชีมาร์จิน และอื่นๆ อีก 1%

หน้า 17-18  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,429 วันที่ 23-26 ธันวาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว