ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)แถลงยุทธ ศาสตร์งานการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา และภาพรวมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ระยะ 3 ปี ระหว่างปี 2560-2562 ท่ามกลางความผันผวนและความเสี่ยงมากขึ้นธปท.ต้องฝ่าคลื่นลมด้วยเครื่องมือที่มีภายใต้ 3 ส่วนงานสำคัญคือ รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นเสถียรภาพทางการเงิน สถาบันการเงิน และระบบชำระเงิน รวมถึงพัฒนาและส่งเสริมความยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจไทย ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งในองค์กรที่เผชิญความท้าทายจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง สิ่งเหล่านี้เป็นพันธกิจสำคัญในปี 2562
“การทำงานของธปท.ใน 1 ปีข้างหน้า ต้องเร็วและกว้างขึ้น เพราะเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะปกติและสภาพคล่องลดลง และเรื่องสงครามการค้าและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก รวมถึงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ต้องติดตามความต่อเนื่องของโครงการลงทุน เพราะมีผลต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งกลางปี 2562 เราจะทำแผน 3 ปีข้างหน้า โดยจะรวมประเด็นใหม่ๆ หรือแพลตฟอร์มต่างๆ เข้าไป ซึ่งแผนยุทธศาสตร์จะยืดหยุ่นและเปลี่ยนไปตามบริบทและสภาวะในตอนนั้น” วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว
สำหรับแผนยุทธศาสตร์ระยะ 3 ปี ทำได้แล้ว 65% ไม่ว่าจะเป็น 1. ระบบการชำระเงิน ซึ่งทำได้เร็วกว่าแผน ทั้งการลดค่าธรรมเนียม การชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ของภาคประชาชนทำได้ค่อนข้างดี แต่ในภาคธุรกิจยังเดินค่อนข้างช้ากว่าแผน เช่น การใช้เช็คที่ภาคธุรกิจยังคงใช้อยู่ ส่วนหนึ่งเพราะควบคุมค่าใช้จ่ายภายใน และสามารถตรวจสอบได้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำต่อไป
2.ฐานข้อมูล(Data Analytic) ดีกว่าตั้งใจและเร็วกว่าคาด สามารถนำมาประยุกต์ใช้และต่อยอดออกมาตรการ เช่น เกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน หรือ มาตรการควบคุมอสังหาริมทรัพย์ และ 3. เสถียรภาพระบบการเงิน ที่ต้องดูความเชื่อมโยงทั้งหมด ทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องสร้างความร่วมมือ เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาลาม สิ่งที่ต้องทำต่อคือ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องมือการเงินหลากหลาย ทั้งระดมทุนในตลาดเงินตลาดทุนและลงทุนในต่างประเทศ
จุดที่ยังท้าทายและไม่ได้ผลต้องเร่งทำคือ การเข้าถึงบริการทางการเงินของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ต้นทุนโอนเงินที่เป็นรายการ(Transaction) ถูกลง แต่ต้นทุนการโอนเงินข้ามพรมแดนหรือต่างประเทศยังสูง แม้จะมีเทคโนโลยีมาช่วยให้ต้นทุนถูกลง เช่น BlockChain แต่ยังใช้เฉพาะกลุ่ม ซึ่่งธปท.อนุญาตให้นำ Information Base Lending มาใช้ในการพิจารณาสินเชื่อได้ โดยเฉพาะลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็กๆ หรือ SSME ที่เริ่มนำมาใช้มากขึ้น
สุดท้ายคือ สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ยังเป็นความเสี่ยงของระบบ เพราะมีเงินฝากราว 15-20% ของทั้งระบบ ซึ่งเรื่องได้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)แล้วที่จะให้กระทรวงการคลัง ธปท. และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยกระดับธรรมาภิบาลของสหกรณ์ออมทรัพย์ ร่วมวางหลักเกณฑ์เพื่อปิดช่องโหว่
นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท.กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเปรียบเหมือนเรือที่มีความผันผวนไม่แน่นอน ความเสี่ยงหลากหลายและไม่ชัดเจนทำให้ประเมินได้ยาก ธปท.จึงต้องนำประสบการณ์ผสมผสานนโยบายที่ีมีหลายเครื่องมือมาใช้เหมือนถ้วยชามสลัดที่ต้องผสานทั้งนโยบายอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนให้สอดคล้องกับภาวะในแต่ละช่วงเวลา
หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,430 วันที่ 27 - 29 ธันวาคม พ.ศ. 2561