ธอส.จ่อปล่อยP2Pสานต่อดิจิทัลแบงกิ้ง

05 มิ.ย. 2562 | 08:30 น.

Peer-to-peer  lending platform (P2P lending platform) แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ทำหน้าที่ในการเชื่อมผู้ที่ต้องการเงินกับผู้ที่มีเงินเหลือให้มาเจอกัน ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ให้ผู้ต้องการเงินสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกรวดเร็วผ่านช่องทางออนไลน์ จากการนำเทคโนโลยีมาทำหน้าที่ตัวกลางทางการเงิน ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของผู้กู้ตํ่าลงและยังเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินให้กับประชาชนและบุคคลผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่สามารถเข้าถึงการกู้ยืมเงินจากธนาคารได้ด้วย

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคาร อาคารสงเคราะห์(ธอส.)เปิดเผยว่า Peer-to-peer lending ถือเป็นธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจมาก ซึ่งรอเพียงธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดให้สถาบันการเงินดำเนินการ ธอส.ก็พร้อมที่จะทำเลย เพราะสามารถนำสลากออมทรัพย์ที่กำลังจะออกเสนอขายให้ประ ชาชนมาเป็นสินทรัพย์หนุนหลัง ก็จะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ทันที

“เรารอเพียงธปท.ประกาศหลักเกณฑ์ให้ครบ พอเปิดก็พร้อมที่จะทำเลย ซึ่ง Peer-to-peer เป็นเรื่องเจ้าของเงินกับผู้กู้เจอกันโดยตรงผ่านแพลตฟอร์มเทคโนโลยี แต่ทุกวันนี้ เจ้าของเงินไม่กล้าปล่อย Peer-to-peer เพราะไม่รู้ว่าจะเก็บเงินอย่างไรและผิดนัดจะทำอย่างไร ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นธอส.ทำได้ เพราะเรามีระบบรับชำระหนี้และมีระบบบังคับจำนองสามารถปิดช่องโหว่นี้ได้”

 

การปล่อยสินเชื่อผ่าน Peer-to-peer จะมีข้อดีคือ ธนาคารไม่ต้องหาเงินมาปล่อย ซึ่งจะมีต้นทุน แต่เป็นการนำเงินชาวบ้านมาปล่อย โดยที่ธนาคารจะได้ค่าธรรมเนียมและบริการ(fee base)หรือ Profit sharing ซึ่งอะไรจะดีกว่า ต้องไปคำนวณในวันนั้น เพราะยังไม่รู้ว่า สิ่งที่ธปท.จะเริ่มพัฒนาเกณฑ์ในการควบคุมกฎนี้จะออกมาอย่างไร แต่เท่าที่ดูเราน่าจะใช้ประโยชน์ตรงนี้ได้ เพราะทุกวันนี้ต้องระดมเงินฝาก

ธอส.จ่อปล่อยP2Pสานต่อดิจิทัลแบงกิ้ง

ฉัตรชัย ศิริไล

“จากนี้ไปเราไม่ต้องระดมเงินฝากแล้ว เจ้าของเงินจะวิ่งมาเลย เราแค่เป็นตัวกลาง เราสามารถเป็นแพลตฟอร์ม เอาเงินของคนฝั่งซ้าย ผ่านแพลตฟอร์มธอส.ไปปล่อยเงินด้านขวา ขณะที่เรามีระบบเก็บเงินรายเดือน เรามีระบบบังคับจำนอง เพราะเวลาปล่อยสินเชื่อจะมีหลักประกัน เป็นสินเชื่อบ้านปกติ ส่วนดอกเบี้ยที่จะคิดขึ้นกับเจ้าของเงินว่า ต้องการเท่าไหร่และต้นทุนที่แบงก์จะใส่เข้าไป แบงก์ก็วิเคราะห์เงินกู้ ประเมินหลักประกัน รับชำระหนี้และบังคับหลักประกันในกรณีที่เป็นหนี้เสีย”

ทั้งนี้ หากเป็น Peer-to-peer ที่ไม่มีตัวกลางคือ เงินจะหาย เพราะประเทศไทยยังไม่มี ID Citizen ไม่ว่าจะเป็นแบงก์หรือนอนแบงก์ก็ยังไม่มีระบบแบบนี้ ขณะที่การพิสูจน์และยืนยันตัวตนของดิจิทัลไอดี(NDID) นั้นเริ่มที่ธนาคารพาณิชย์ก่อน ส่วนธนาคารรัฐจะดำเนินการภายหลัง ซึ่งสมาคมธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ(SFI) กำลังจะเข้าไปถือหุ้นใน NDID 10% ในส่วนของบริษัทศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติฯ (เครดิตบูโร) ที่ลดสัดส่วนจาก 25% เหลือ 15% และขาย 10% ให้ธนาคารรัฐจากนั้นจึงจะเข้าไปร่วมด้วย

 

อย่างไรก็ตามขณะนี้ถือว่า ระบบโครงสร้างพื้นฐานของธนาคารนิ่งแล้ว เพราะหลังจากขึ้นระบบ GHB System ไปเมื่อวันที่ 11 มีนาคมแล้วระบบเสถียร ดูได้จากวันสุดท้ายของเดือนมีนาคม เราปล่อยสินเชื่อวันเดียว 4,300 ล้านบาท โดยที่ระบบนิ่งไม่มีปัญหา ซึ่งระบบใหม่จะสามารถรองรับการดำเนินธุรกิจของ ธอส. ไปได้อีกอย่างน้อย 10 ปี โดยคำนวณจากปริมาณธุรกรรมของธนาคารทั้งเงินฝากและสินเชื่อ ที่เติบโตปีละ 5-6% และเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนทุกๆ 10 ปี และหลังจากขึ้น Mobile Application : GHB ALL ไปเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน มีลูกค้าดาวน์โหลดและลงทะเบียนใช้งานแล้วกว่า 100,000 ราย 

สัมภาษณ์ หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3476 ระหว่างวันที่ 6-8 มิถุนายน 2562