รีดภาษีเกมออนไลน์ ไทยเทศต้องเท่าเทียม

29 มิ.ย. 2562 | 09:00 น.

หวั่นเก็บภาษี “เกม-หนัง-เพลง ออนไลน์” ทำผู้ประกอบการจดทะเบียนไทย เสียเปรียบต่างชาติ-ผู้ให้บริการผิดกฎหมาย แนะรัฐออกกฎหมายบังคับยักษ์โซเชียลเปิดเผยข้อมูลธุรกรรม เรียกเก็บภาษีเกมออนไลน์ต่างประเทศที่เชื่อมต่อบัญชี

  เกมออนไลน์ธุรกิจดาวรุ่งที่มีมูลค่าไม่ตํ่า 2 หมื่นล้านบาท กำลังเป็นที่จับจ้องของหน่วยงานทางด้านภาษี อย่างกรมสรรพสามิต ที่กำลังการจัดเก็บภาษีตลาดเกมออนไลน์ รวมถึงเพลงและภาพยนตร์ออนไลน์ แบบออนดีมานด์ ด้วย โดยมองว่าเป็นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย อย่างไรก็ตามการเรียกเก็บภาษีจากผู้ให้บริการเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับธุรกิจที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย และธุรกิจผิดกฎหมาย 

แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมเกมออนไลน์รายหนึ่ง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าการเติบโตของเกมออนไลน์ที่มีเงินหมุนเวียนในธุรกิจสูง และเติบโตขึ้นทุกปีนั้นทำให้ภาครัฐพยายามหาช่องทางจัดเก็บภาษี อย่างไรก็ตามมองว่าแนวคิดดังกล่าวจะสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการในประเทศที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย มีการซื้อลิขสิทธิ์เกม ลงทุนเซิร์ฟเวอร์ในประเทศ เนื่องจากมีต้นทุนการให้บริการเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ให้บริการเกมออนไลน์ต่างประเทศ มีเซิร์ฟเวอร์อยู่ในต่างประเทศ ภาครัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ ทำให้ไม่มีต้นทุนด้านภาษี ซึ่งมองว่าต่อไปผู้ให้บริการในประเทศ อาจจะหนีไปเช่าใช้เซิร์ฟเวอร์ในต่างประเทศ

สำหรับแนวทางการเก็บภาษีจากผู้ให้บริการต่างประเทศนั้นในอินโดนีเซีย หรือฟิลิปปินส์ มีกฎหมายบังคับให้ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดีย รายงานตัวเลขธุรกรรมกับหน่วยงานภาครัฐ และโซเชียลมีเดีย เป็นผู้เรียกเก็บภาษี การซื้อขายไอเทมในเกม จากผู้ให้บริการเกมที่มาเชื่อมต่อกับโซเชียลมีเดีย

ด้านนายปฐมพงศ์ สิรชัยรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท โมโน กรุ๊ป จำกัด ผู้ให้บริการภาพยนตร์ออนดีมานด์ ภายใต้ชื่อ “โมโนแม็กซ์” กล่าวว่าหากภาครัฐมีนโยบายจัดเก็บภาษีผู้ให้บริการภาพยนตร์ออนดีมานด์จริง บริษัทก็พร้อมดำเนินการ อย่างไรก็ตามมองว่าภาครัฐจะต้องแก้ปัญหาการให้บริการภาพยนตร์ออนไลน์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้ได้ก่อน เนื่องจากมีสัดส่วนการให้บริการมากกว่าผู้ให้บริการที่ซื้อลิขสิทธิ์มาถูกต้อง

ด้านนายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิชาการโทรคมนาคม ฝ่ายพัฒนานวัตกรรมฯ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่าข้อเท็จจริงเรื่องการเก็บภาษีสำหรับธุรกิจดิจิทัลมีเดีย สรรพสามิตกำลังทำเป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีในปัจจุบัน ซึ่งบริการที่เข้าเกณฑ์แบบนี้หลายประเภทไม่ใช่แค่เกมหรือเพลงออนไลน์ แต่ต้องการที่จะทำไปให้ถึงแพลตฟอร์ม OTT อย่างเฟซบุ๊กหรือยูทูบ โดยอาจจะเริ่มจากผู้ประกอบการในประเทศก่อน เนื่องจากเป็นผู้ให้บริการที่มีตัวตนที่ชัดเจนในไทย

“ภาพรวมแล้วไม่ว่าจะเป็นการเติมเพลงหรือเกมก็อาจจะเป็นเม็ดเงินมหาศาล สรรพสามิตก็อาจจะมองว่าตรงนี้ยังเป็นช่องโหว่ในเรื่องของการจัดเก็บรายได้อยู่ เนื่องจากมีผู้ประกอบการที่มีผลกำไร ซึ่งถ้าเก็บภาษีตรงนี้ได้สำเร็จ อนาคตอาจจะขยายไปสู่ธุรกิจมีเดียอื่นๆ ที่ไม่ใช้ฐานในไทยในการประกอบการ เช่น อย่างเฟชบุ๊ก ยูทูบ หรือ กูเกิล อาจจะเป็นขั้นต่อไป ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นบรรทัดฐานก่อน”

สำหรับวิธีการจัดเก็บนั้นยังคงเป็นเรื่องที่ยากเพราะโดยเฉพาะถ้าเป็นในกลุ่มของผู้ประกอบการต่างประเทศ เนื่องจากไม่มีข้อมูลในเรื่องของปริมาณการซื้อขายกัน หน่วยงานที่จะต้องจัดเก็บภาษีไม่มีทางรู้ว่าธุรกรรม (Translation) หรือมูลค่าที่แท้จริงเป็นเท่าไร ดังนั้นจึงต้องสร้างกระบวนการให้เอกชนหรือผู้ประกอบการรายงานยอดหรือมูลค่าการซื้อขายที่เกิดขึ้น

ที่สำคัญคือ คนที่อุตส่าห์ทำถูกต้องตามกฎหมายไทยทุกอย่าง มีการจัดตั้งบริษัทถูกต้องจดทะเบียนถูกต้อง เพื่อมาขายให้กับผู้ใช้บริการในไทย ยินดีที่จะเสียภาษีแต่ปรากฏว่าผู้ประกอบการที่ไม่ได้มีฐานธุรกิจในไทย ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย กลับไม่ต้องเสียภาษีตรงนี้อาจทำให้เกิดความเหลื่อมลํ้าและน่าจะเป็นผลเสียมากกว่า”

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,483 วันที่ 30 มิถุนายน - 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

รีดภาษีเกมออนไลน์  ไทยเทศต้องเท่าเทียม