รมว.คลัง ยังไม่ตอบ ลดภาษีบุคคลธรรมดาเหลือ 10% พร้อมสั่งปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ พร้อมเดินหน้ารีดภาษี e-Business คาดเสนอเข้า สภาฯปีนี้ ก่อนบังคับใช้ปีหน้า มั่นใจทำรายได้เพิ่ม 3-4 พันล้านบาท
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมมอบนโยบายกรมสรรพากรในวันนี้ว่า กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บรายได้ในช่วง 10 เดือแรกของปีงบประมาณ 2562 เกินกว่าเป้าหมาย 48,444 ล้านบาท และมั่นใจว่า ทั้งปีจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 2 ล้านล้านบาท แต่ต้องการให้กรมสรรพากรดูแลเรื่องการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในปีงบประมาณ 2563 ซึ่งตั้งเป้าหมายจัดเก็บรายได้ไว้ที่ 2.116 ล้านล้านบาท
ดังนั้นจึงให้ตั้งคณะทำงานพิเศษ โดยกรมสรรพากรจะต้องร่วมกับกรมศุลกากร กรมสรรพสามิต และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่มีปลัดเป็นประธาน เพื่อพิจารณาการปรับโครงการภาษีทั้งระบบ ซึ่งยังไม่สามารถบอกได้ขณะนี้ว่า จะมีการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือ 10% การยกเว้นภาษีแม่ค้าออนไลน์ 2 ปี และ การยกเว้นภาษีนักศึกษาจบใหม่ 5 ปี โดยจะเริ่มประชุม นักแรกในวันที่ 30 สิงหาคมนี้ ซึ่งจะพิจารณาอย่างรอบด้าน ถึงผลกระทบการจัดเก็บรายได้ และความเหลื่อมล้ำ
“การปรับลดภาษีบุคคลธรรมดาตามที่เคยหาเสียงไว้ว่าเหลือ 10% นั้น คงไม่สามารถบอกได้ เพราะต้องปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ซึ่งเวลาศึกษาจะต้องเปรียบเทียบกับอาเซียน และดูความเหมาะสมของไทยว่า จะสามารถปรับโครงสร้างภาษีแบบประเทศอื่นได้หรือไม่ ส่วนตอนหาเสียงที่ระบุไว้ว่าลดภาษีเหลือ 10% นั้น ไม่สามารถระบุรายละเอียดได้ทั้งหมด และ 10% ที่บอก เป็นเพียงการยกตัวอย่างของการปรับโครงสร้างทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติ”นายอุตตม กล่าว
นายอุตตม กล่าวว่า ยังได้มอบหมายให้กรมสรรพากร เร่งผลักดันร่างกฎหมายการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) โดยให้กรมสรรพากรยืนยันร่างกฎหมายเดิมที่ค้างอยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา ซึ่งหากผ่านการพิจารณาแล้ว คาดว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาได้และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2563 เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวจะมีส่วนช่วยเพิ่มรายได้ ตามแผนการปรับโครงสร้างภาษีใหม่
ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า หากร่างกฎหมาย e-business มีผลบังคับใช้ คาดว่าจะช่วยทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น 3,000-4,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งขณะนี้มีบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งเริ่มเข้ามาหารือกับกรมฯเพื่อเตรียมความพร้อม หากกฎหมายมีผลบังคับใช้จะสามารถเข้าสู่ระบบภาษีได้ทันที ทั้งนี้ มั่นใจว่ากฎหมายดังกล่าวจะสามารถจัดเก็บภาษีได้จริง เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่มีธรรมดาภิบาล ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะไม่สามารถจัดเก็บจากบริษัทขนาดเล็กได้นั้น กรมฯอยู่ระหว่างศึกษากฎหมายการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ (Exchange of Informations) ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานของ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) โดยจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการทำธุรกิจออนไลน์ สำหรับใช้ในการประเมินภาษีร่วมกัน
สำหรับหลักการของกฎหมาย e-Business นั้น จะมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ของรายรับจากการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ก่อน ส่วนในระยะต่อไป กรมฯ จะศึกษาการจัดเก็บภาษี Digital tax service ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับภาษีธุรกิจเฉพาะที่เก็บในธุรกิจออนไลน์ เช่นเดียวกับที่ฝรั่งเศสดำเนินการจัดเก็บอยู่ขณะนี้ ซึ่งเป็นประเทศแรกของโลก
“บริษัทใหญ่ๆ อย่าง Facebook google ยังไม่ได้เข้ามาคุยกับกรมสรรพากร แต่มีรายอื่นที่เข้ามาคุยบ้างแล้ว ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาของทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะไทยเท่านั้น ที่ไม่สามารถจัดเก็บภาษีนิติบุคคลกับบริษัทข้ามชาติได้ เนื่องจากไม่มีการจดทะเบียนการตั้งถิ่นฐานอยู่ในไทย เราจึงให้ไปดู Digital tax service ที่ฝรั่งเศส เก็บอยู่ 3% ของรายรับจากการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นว่าจะทำได้อย่างไรบ้าง”นายเอกนิติ กล่าว
ส่วนการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือ 10% ยอมรับว่า กระทบกับการจัดเก็บรายได้ของกรมฯแน่นอน เนื่องจากปัจจุบัน กรมฯมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 400,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17% ของการจัดเก็บรายได้ทั้งหมด ซึ่งในจำนวนดังกล่าว 72% ของรายได้มีจากกลุ่มที่มีรายได้สูง ดังนั้นหากจะปรับลดภาษีจะต้องคำนึงถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้คนรวยได้ประโยชน์ และมองว่าจะทำให้รายได้หายไปจำนวนมาก
“ปัจจุบันคนยื่นภาษีบุคคลธรรมดามีทั้งหมด 10.7 ล้านคน ซึ่งมีคนเสียภาษีจริงเพียง 4 ล้านคนเท่านั้น ที่เหลือส่วนใหญ่จะมีการหักลดหย่อนภาษี ดังนั้นหากลดภาษีตัวนี้ลงไปจะทำให้รายได้หายไปมาก ซึ่งปัจจุบันกรมสรรพากร มีรายได้เข้าประมาณ 2 ใน 3 ของการจัดเก็บรายได้ทั้งหมด ซึ่งหากรายได้หายไป อาจกระทบกับเสถียรภาพการเงินการคลังได้ ดังนั้นจึงต้องมีการทบทวนโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ไม่ใช่แค่สรรพากรอย่างเดียว”นายเอกนิติ กล่าว