Exim Bank เชื่อเศรษฐกิจ CLMV อีก 5 ปี โตดีกว่าโลก หนุนผู้ประกอบการไทยทำแฟรนไชส์บุกตลาดเพื่อนบ้าน พร้อมให้สินเชื่อไม่จำกัดวงเงินกู้ หวังดันเศรษฐกิจไทยโตขึ้นได้
ในงานสัมมนา “พัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ไทยก้าวสู่สากล”นายพิศิษฐ์ เสรีวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(Exim Bank)เปิดเผยถึงโอกาสการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ระหว่างประเทศในกลุ่มประเทศ CLMV ของผู้ประกอบการไทยว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จากปัญหาสงครามการค้า แต่เศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง(CLMV) กลับขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และมีการคาดการณ์ว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศดังกล่าวจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 6% สูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเกือบเท่าตัว
ทั้งนี้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) สปป.ลาว ตั้งแต่ปี 2562-2566 เฉลี่ยที่ 6.8% เมียนมา 6.7% กัมพูชา 6.6% และเวียดนาม 6.5% ขณะที่เศรษฐกิจโลกโตเฉลี่ย 5 ปีเพียง 3.6% ส่วนกำลังซื้อของกลุ่มประเทศ CLMV จะเพิ่มขึ้นอีก 30% ในปี 2566 ดังนั้นผู้ประกอบการไทย จึงควรหันมาให้ความสำคัญและผลักดันธุรกิจไทยไปเติบโตที่ประเทศในแถบ CLMV มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจแฟรนไชส์ เพราะการผลิตสินค้าและบริการภายในประเทศของ CLMV นั้นยังไม่เพียงพอต่อความต้องการทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
ทั้งนี้แฟรนไชส์แบรนด์ไทยระดับพรีเมี่ยมที่ไปเปิดตลาดในต่างประเทศมี 49 แบรนด์ จากปัจจุบันที่มีธุรกิจแฟรนไชส์ในไทย 584 กิจการ มีสาขากว่า 100,000 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งแบรนด์ที่ไปเปิดธุรกิจในต่างประเทศกว่า 80% อยู่ในประเทศแถบ CLMV ซึ่งเชื่อว่า จะได้รับความสนใจ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคของคนรุ่นใหม่ในประเทศกลุ่ม CLMV เปลี่ยนไป ซึ่งผู้บริโภคต้องการสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยแฟรนไชส์แรนด์ไทยมีความแข็งแกร่งที่จะดึงดูดใจผู้บริโภคได้
ขณะเดียวกัน เพื่อเสริมให้ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทยเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง Exim Bank จึงได้ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ไทยไปขยายตลาดในต่างประเทศมากขึ้น ด้วยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ซื้อแฟรนไชส์ไทย/เชนไทย วงเงินรวม 800 ล้านบาท ปล่อยต่อรายไม่จำกัดวงเงิน ขึ้นอยู่กับค่าซื้อแฟรนไชส์แต่ละเจ้า ซึ่งเป็นวงเงินสินเชื่อระยะยาวไม่เกินระยะเวลาของสัญญาซิ้อขายแฟรนไชส์หรือสัญญาว่าจ้างเชน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ Libor +3.5% ต่อปี หรือสกุลเงินบาทที่ 6.125% ต่อปี ซึ่งจะพิจารณาหลักประกันตามความเหมาะสม
"ทางเราเป็นหนึ่งในภาครัฐที่มีหน้าที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จ โดยใช้งบประมาณตัวเองดำเนินการ แม้ว่าสินเชื่อบางตัวผลตอบแทนไม่คุ้มกับที่ลงทุนไปก็ตาม แต่เราก็ยังพร้อมช่วยเหลือ แต่ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเอง จะต้องช่วยเหลือตัวเอง พัฒนาธุรกิจให้เป็นที่ต้องการของแต่ละตลาด เพื่อจูงใจให้ผู้ซื้อสนใจซื้อสินค้าเรา ขณะเดียวกันธุรกิจนี้หากเติบโตได้ตามที่คาด จะเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วย เช่นถ้าเจ้าของแบรนด์ต่างๆ ขายแฟรนไชส์ได้มูลค่ารวม 9,000 ล้านบาท คนซื้อแฟรนไชส์ไปขายของต่อก็จะหมุนให้เงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้ถึง 90,000 ล้านบาท"นายพิศิษฐ์ กล่าว
ด้านนางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า มูลค่าตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ในปัจจุบันอยู่ที่ 2.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 อยู่ที่ 2.2-2.3 แสนล้านบาท ซึ่งปีนี้คาดการณ์จะขยายตัวได้ถึง 3 แสนล้านบาท สะท้อนว่าธุรกิจแฟรนไชส์มีอัตราการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยขยายตัวได้กว่า 20% ต่อปี ในแต่ละปีมีผู้ประกอบการรายใหม่เกิดขึ้นเฉลี่ย 20,000 รายต่อปี ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยืนยันให้การส่งเสริมผู้ประกอบการดังกล่าวอย่างเต็มที่ด้วยการให้องค์ความรู้ สนับสนุนมาตรฐานแฟรนไชส์ไทยให้เป็นมาตรฐานเทียบเท่าสากล และส่งเสริมการเชิ่อมโยงกับตลาดในต่างประเทศ ดังนั้นจึงเชื่อว่าในอนาคตธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยจะขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าปัจจุบันแน่นอน