แนวโน้มการก่อหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์จากการกู้ยืมระหว่างกัน ส่งผลให้ภาระหนี้สะสมเพิ่มขึ้น ขณะที่เกณฑ์กำกับดูแลยังมีความล่าช้า สร้างความเปราะบางต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจไทย ที่ฉุดกำลังซื้อของครัวเรือนและความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ ซึ่่งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)พยายามแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดี กรมส่งเสริมสหกรณ์ออมทรัพย์เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การปล่อยกู้ของกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เติบโตปีละ 8.6% โดยสิ้นปี 2561 มียอดคงค้าง 2.2 ล้านล้านบาท จากทุนดำเนินการรวม 2.88 ล้านล้านบาท โดยมีสหกรณ์ออมทรัพย์สมาชิก 1,476 แห่ง รวมกว่า 3 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มข้าราชการ เช่น ครู ตำรวจ ทหาร พลเรือน และพนักงานรัฐวิสาหกิจและพนักงานบริษัทเอกชนที่รวมตัวจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ขึ้น
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์
ทั้งนี้หากเทียบกับปี 2560 แล้ว สมาชิกมีหนี้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 30,000 บาทต่อคน คือเพิ่มขึ้นจาก 769,000 บาท เป็น 799,000 บาท เพราะส่วนใหญ่รายได้ไม่พอ จึงต้องอาศัยเงินกู้ฉุกเฉินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อใช้จ่ายหรือค่าครองชีพรายเดือน เวลาชำระไม่เกิน 12 เดือน หรือเงินกู้ประเภทสามัญผ่อนชำระตั้งแต่ 60-300 งวดอาจจะมีสูงกว่านี้ที่กู้พิเศษคือ 360 งวด เพื่อกู้สร้างที่อยู่อาศัย เพราะมีหลักทรัพย์คํ้าประกัน
ส่วนความคืบหน้าการแก้ปัญหาแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ กำลังเร่งหารือกับสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อให้สอดคล้องกับเกณฑ์ธปท.ที่จะออกเกณฑ์ควบคุมการให้สินเชื่อรายย่อย เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่จะออกเกณฑ์ภายในสิ้นปี ก่อนบังคับใช้ต้นปี 2563 ซึ่งสหกรณ์ออมทรัพย์ต้องกำหนดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้(DSR) ไม่เกิน 70% โดยต้องระบุไว้ใน กฎกระทรวง 89/2(4) เรื่องการให้กู้-สินเชื่อ
ขณะที่เกณฑ์พิจารณาปล่อยกู้ยังปรับลดงวดของการชำระหนี้ โดยเงินกู้ประเภทสามัญที่ใช้บุคคลคํ้าประกัน จะเสนอชำระหนี้ไม่เกิน 180 งวดจากปกติ 240-300 งวด หรือกู้พิเศษใช้หลักทรัพย์คํ้าประกัน เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยไม่เกิน 360 งวด พร้อมกำหนดอายุผู้กู้ไม่เกิน 70 ปี แต่กำลังต่อรองเป็น 75 ปี และไม่กำหนดอายุผู้กู้กรณีกู้ไม่เกินวงเงินฝากหรือไม่เกินมูลค่าหุ้นในสหกรณ์
ด้านการขยายกรอบการลงทุน (มาตรา89/2(8) เรื่องการฝากและลงทุน) ยังไม่สรุปวงเงินที่จะนำไปลงทุนภายนอก หรือสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกู้ เบื้องต้นหารือกันที่ 30-50% แต่ต้องหารือเพิ่มเติม โดยมีกรอบเวลาออกกฎกระทรวงภายใน 2 ปีนับแต่พระราชบัญญัติสหกรณ์ออมทรัพย์มีผลบังคับใช้ หรือราวเดือนพฤศจิกายน 2564
“เรากำลังเร่งรัดเพื่อดูแลเสถียรภาพของระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งแก้ไขกันมาได้ครึ่งทางแล้ว ซึ่งต้องทำให้เสร็จในเวลาใกล้เคียงธปท. เพื่อเดินไปพร้อมกัน ไม่เช่นนั้นธปท.คุมธนาคารพาณิชย์ได้แต่ปัญหาจะมาโผล่ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ สิ่งสำคัญคือ สร้างวินัยทางการเงินและวางแผนทางการเงิน ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้ได้ทั้งหมด”
ส่วนเกณฑ์คำนวณรายได้ บางสหกรณ์ให้นำรายได้อื่นๆ เช่น ค่าเบี้ยเสี่ยงภัย หรือเงินพิเศษ หรือค่าสอน ค่าทำงานวิจัย แต่ต้องระบุไว้ในกฎกระทรวงด้วย กรณีการกู้วนซํ้าจะกำหนดให้กลับมากู้ใหม่ เมื่อผ่อนจ่ายแล้วไม่น้อยกว่า 6 งวด และกำลังพิจารณาการปรับโครงสร้างหนี้คู่กับการจัดชั้นลูกหนี้ เพื่อสะท้อนคุณภาพเงินกู้ท่ี่สหกรณ์อนุมัติไป โดยจะเพิ่มเติมการจัดชั้นลูกหนี้ตั้งแต่ระดับ 2% กรณีค้างชำระ 3 เดือน ถ้าค้างชำระ 3-6 เดือนต้องจัดชั้นที่ 20% ค้างชำระ 6-12 เดือนต้องจัดชั้น 50% และค้างชำระเกินกว่า 12 เดือนขึ้นไปต้องจัดชั้นเต็ม 100%
“เรายังมีกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงราว 37 แห่ง ซึ่งอยู่ระหว่างขอขยายสัดส่วนการลงทุนหรือลงทุนในหุ้นเรตติ้งไม่ตํ่ากว่า A- ที่ผ่านมา มีความเป็นห่วงเรื่อง Search for yield ในกลุ่มนี้ แต่อายุการลงทุนยาวสุด 12 ปี ซึ่งรับเงินปันผล 4-5% ซึ่งสมาชิกจะมีรายได้วัยเกษียณ แต่ต้องบริหารจัดการให้ดีไม่เช่นนั้นจะเป็นปัญหาสังคมในอนาคต”
หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3501 วันที่ 1-4 กันยายน 2562