เปิดพอร์ตประกันสังคมลงทุนหุ้นไทย 2.62 แสนล้านบาท 1 ปีเพิ่มน้ำหนักลงทุน 3 หุ้นแบงก์ใหญ่ BBL-SCB - KBANK และกองทุนอสังหาฯ เผยพอร์ตลงทุนกองทุนประกันสังคม 2.06 ล้านล้านบาทสร้างผลตอบแทน ณสิ้นเดือนกันยายนแล้วกว่า 6.58 หมื่นล้านบาทมาจากลงทุนในหุ้นร่วม 3.25 หมื่นล้านบาท หรือ 50%
จากข้อมูลของตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า สำนักงานประกันสังคม จัดเป็นนักลงทุนกลุ่มสถาบันไทยที่มีมูลค่าการลงทุนมากเป็นอันดับ 4 โดยมีมูลค่าการลงทุน 262,409 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ย. 62) รองจากกระทรวงการคลัง บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) (บมจ.) และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ โดยถืออยู่ในหุ้นไทยทั้งสิ้น 81 หลักทรัพย์ จำนวนนี้เป็นบจ. 46 หลักทรัพย์ และอีก 35 หลักทรัพย์ เป็นการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ อาทิ อินฟราฟันด์ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ (REIT) และกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (IFF)
ทั้งนี้ 15 อันดับหลักทรัพย์ที่สำนักงานประกันถือซึ่งมีมูลค่าสูงสุด เรียงลำดับ ได้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC), บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC), บมจ. ปตท. (PTT), บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS), บมจ.ท่าอากาศยานไทย ( AOT)บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL), บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB), บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL), บมจ. ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF), บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO), บมจ.เซ็นทรัล พัฒนา (CPN), ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP), บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) และบมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU)
และจากการสำรวจพบว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคม เพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้นในกลุ่มธนาคารมากสุด กล่าวคือ หุ้น BBL ล่าสุดได้เพิ่มสัดส่วนเป็น 3.43% (ตารางประกอบ) จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ถือ 3.00%, SCB เพิ่มสัดส่วนเป็น 2.75% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ถือ 2.47% , KBANK เพิ่มสัดส่วนเป็น 2.88% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ถือ 2.28% และ TISCO เพิ่มเป็น 3.3% จากที่ถือปีที่แล้ว 3.12%
ขณะเดียวกันได้ลดสัดส่วนการถือหุ้น TU ลงต่อเนื่อง จากวันที่ปิดสมุดจดทะเบียนผู้ถือหุ้นปี 2561 (21 ส.ค. 61) ถือ 7.21% ลดลงเหลือ 7.18% (21 ส.ค. 62) ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต.) รายงานแบบการได้มา/จำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการ (แบบ 246-2) ระบุว่า สำนักงานประกันสังคม ได้จำหน่ายหุ้นที่ถือใน TU สัดส่วน 0.1359% ทำให้หุ้นที่ถือปัจจุบันอยู่ที่ 4.8776% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ
ข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม รายงานสถานะเงินลงทุนกองทุนประกันสังคม ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 อยู่ที่ 2,055,040 ล้านบาท แยกเป็นเงินลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงจำนวน 1,633,592 ล้านบาท คิดเป็น 79% และเป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงจำนวน 421,448 ล้านบาท คิดเป็น 21% อาทิ เป็นการลงทุนตราสารทุนไทยหรือหุ้นไทยประมาณ 226,627 ล้านบาท คิดเป็นสัดสวน 11.03% ของเงินลงทุนรวม, หุ้นกู้เอกชน 101,854 ล้านบาท สัดส่วน 4.96%, หน่วยลงทุนตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับ/ตราสารทุนต่างประเทศ 94,210 ล้านบาท สัดส่วน 4.58% , เป็นการลงทุนในหน่วยลงทุนอสังหาฯ, โครงสร้างพื้นฐานและทองคำ วงเงิน 61,140 ล้านบาท เป็นสัดส่วน 2.98% ขณะที่การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ธปท. รัฐวิสาหกิจที่กระทรวงคลังค้ำประกัน เป็นวงเงินมากสุดประมาณ 1,363,220 ล้านบาท คิดเป็น 66.3%
โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 กองทุนประกันสังคม มีผลตอบแทนที่ได้รับรู้แล้ว 65,823 ล้านบาท โตเพิ่ม 18.4% จากสิ้นปี 2561 ที่มีผลตอบแทนอยู่ที่ 55,600 ล้านบาท จำนวนนี้เป็นผลตอบแทนจากเงินปันผลและกำไรจากการขายตราสารทุนและหน่วยลงทุน 32,575 ล้านบาท และอีก 33,248 ล้านบาท มาจากดอกเบี้ยและกำไรจากการขายตราสารหนี้และค่าธรรมเนียมการให้ยืมหลักทรัพย์
อย่างไรก็ดีผลตอบแทนที่รับรู้แล้ว 65,823 ล้านบาท เมื่อเทียบกับขนาดเงินลงทุนของประกันสังคมจากสิ้นปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ 1,908,787 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนในช่วง 9 เดือนดังกล่าวคิดเป็น 3.45%
หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,519 วันที่ 3-6 พฤศจิกายน 2562