ส่องพฤติกรรม GEN Y เสียเงิน"ของมันต้องมี" สูงถึงปีละ 1.37 ล้านล้านบาท

25 พ.ย. 2562 | 10:31 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ย. 2562 | 06:27 น.

TMB ส่องพฤติกรรม Gen Y เสียเงิน “ของมันต้องมี” วงเงินสร้างไฮสปีดเทรน 8 เท่า สูงถึง 1.37 ล้านล้าน


จากข้อมูล ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า กลุ่ม Gen Y อายุ 23-38 ปี ที่มีอยู่ประมาณ 14.4 ล้านคน มีการกู้ยืมเงินประมาณ 50% ของ Gen Y ทั้งหมด หรือ 7.2 ล้านคน เฉลี่ยมีภาระหนี้อยู่ที่ 4.23 แสนบาทต่อคน แต่ที่น่าสังเกต  คือ 20% ของ Gen Y ที่กู้ หรือ 1.4 ล้านคนเป็นหนี้ผิดนัดชำระ หรือคิดเป็น 7.1% ของสินเชื่อทั้งหมดที่มีการผิดนัดชำระ 

ข้อมูลดังกล่าว นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี TMB Analytic ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ได้เจาะข้อมูลพฤติกรรมเชิงลึกทางการเงินของคน Gen Y กับแนวทางการแก้ปัญหาทางการเงินผ่านแคมเปญ “ของมันต้องมีก่อน 40” ว่า จากผลการสำรวจพฤติกรรมของ Gen Y บนโซเชียล พบว่า โดยเฉลี่ย Gen Y หมดเงินไปกับ “ของมันต้องมี” ปีละ 9.55 หมื่นบาทต่อปี หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของรายได้ต่อปี 3.77 แสนบาทต่อปี หากขยายภาพให้ชัดกลุ่ม Gen Y หมดเงินไปกับของมันต้องมีสูงถึงปีละ 1.37 ล้านล้านบาท 

 

ส่องพฤติกรรม GEN Y เสียเงิน\"ของมันต้องมี\" สูงถึงปีละ 1.37 ล้านล้านบาท


หากเทียบมูลค่า 1.37 ล้านล้านบาท เท่ากับมูลค่าสูงเทียบกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ถึง 13% ของไทย หรือคิดเป็น 8 เท่าของรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรือ 91% ของมูลค่าเป้าหมายการลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ในเวลา 5 ปี 
 

ทั้งนี้ สาเหตุ Gen Y ของมันต้องมีมาจากทัศนคติ ทั้งในส่วนบริโภคนิยม ตัดสินใจซื้อแบบไม่ต้อคิด ความสุขซื้อได้ด้วยประสบการณ์ จึงเป็นทีมา“ของมันต้องมี” หากดูสาเหตุที่ Gen Y อยากได้ของมันต้องมี จะมาจากซื้อตามเทรนด์ 42% และ 37% มองเป็นของจำเป็น โดยในจำนวน Gen Y 14.4 ล้านคน มีประมาณ 10 ล้านคน หรือประมาณ 70% มีเงินไม่พอ และในจำนวนนี้มีประมาณ 50% หรือ 5 ล้านคนที่กู้ยืมเงินจากธนาคาร โดยมีราว 3.7 ล้านคน ที่มีภาระเสียดอกเบี้ย 74% และ 26% ไม่มีการผ่อนจ่าย 

และหากเจาะลึกกลุ่ม Gen Y สัดส่วน 47% หรือ 6.8 ล้านคน ใช้จ่าย “ของมันต้องมี” มากกว่า “เงินเก็บ” และมีประมาณ 53% หรือ 7.6 ล้านคน ที่สามารถเก็บเงินได้ ทั้งนี้ หากดูโครงสร้างทางการเงินของ Gen Y ที่มีการใช้จ่าย แต่เงินไม่มี มักมีพฤติกรรมการใช้เงินก่อนออม โดยเมื่อมีรายได้เข้ามาแต่ละเดือน จะนำไปชำระหนี้และซื้อของอุปโภคก่อน 60% ส่วนที่เหลือค่อยเก็บ รวมถึงเก็บเงินผิดที่อยู่ในบัญชีออมทรัพย์ 39% ซึ่งสวนทางกับกลุ่มของมันต้องมี และเก็บเงินได้ จะกันเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับออมที่สูงถึง 33% ก่อนจะใช้จ่าย และวางแผนออมและลงทุนในบัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูง

นอกจากนี้ หากดูความหวัง “ของมันต้องมี” ก่อนอายุ 40 ปี คือ อยากมีบ้าน 48% รถยนต์ 22% ขณะที่อยากมีเงินออมและสินทรัพย์อื่นๆ มีไม่มากเพียง 13% แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง พบว่า Gen Y มียอดใช้จ่ายของมันต้องมีสูงถึง 69% ส่วนใช้จ่ายเรื่องบ้าน 12% รถยนต์ 10% และเงินออมเพียง 9% 

สำหรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อนำไปสู่การมีพฤติกรรมทางการเงินที่ดีหรือมีวินัยทางการเงิน นายนริศ กล่าวว่า ลดเงินที่ใช้กับ “ของมันต้องมี” ลงแค่ 50% ควบคู่กับการวางแผนบริหารเงินให้ดีโดยการเพิ่มการลงทุนให้ถูกที่ ทำให้ Gen Y จะมีเงินสะสมเพิ่มขึ้น 4.3 หมื่นบาทต่อปี หากสามารถสะสมได้ 10 ปี สามารถซื้อ Toyota Altis มูลค่าเฉลี่ย 8.29 แสนบาท ถึง 1.09 ล้านบาท หากสะสมครบ 20 ปี สามารถเซ้งร้านกาแฟย่านทองหล่อ 1.90 ล้านบาท และสะสม 30 ปี สามารถซื้อคอนโดย่านห้วยขวางเฉลี่ย 2.5 ล้านบาท

“เจน วาย ถือเป็นวัยสร้างหนี้ เพราะคำว่า ของมันต้องมี ซึ่งปัจจัยมาจาก 3 เหตุผล บริโภคนิยม ซื้อแบบไม่คิด และประสบการณ์คือความสุข ซึ่งจากตัวเลขพบว่ากลุ่มเจน วาย มีสูงถึง 1.4 ล้านคน ที่มีหนี้ผิดนัดชำระ และแนวโน้มจะยังเพิ่มสูงขึ้น หากยังใช้จ่ายกับการของมันต้องมี ทีเอ็มบีต้องการเป็นธนาคารที่มากกว่าการทำธุรกรรมที่ง่ายขึ้น คือ การทำให้ลูกค้ามีชีวิตที่ดีขึ้น โดยการให้ความรู้ทางการเงิน และแนะนำการลดพฤติกรรมของมันต้องมีและเก็บออมจะช่วยให้เจนวายมีทรัพย์สินตามเป้าหมายได้ในระยะยาว”