เศรษฐกิจไทยในปีนี้เติบโตช้าลง อยู่ในระดับ 2.4-2.6% ลดลงจากปี 2561 ที่ไต่ขึ้นไปถึงระดับ 4% เกิดจากการส่งออกไม่ดี สืบเนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน โลกมีความกังวลส่งผลกระทบกำลังซื้อต่อเนื่องให้ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย
ที่ผ่านมารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ โดยกระทรวงการคลังเข็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเป็นชุดๆ ต่อเนื่อง มุ่งหวังอัดฉีดกำลังซื้อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นตัว โดยช่วง 4 เดือนนี้ออกมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งการลดค่าโอนกรรมสิทธิ์ และจดจำนองเหลือ 0.01% ล่าสุดโครงการบ้านดีมีดาวน์ รัฐช่วย 5 หมื่นบาท ให้กับผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ 100,000 ราย
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ปลุกกำลังซื้อ ฟื้นพลังเศรษฐกิจไทย” ภายในงานสัมมนา Go Thailand : ปลุกกำลังซื้อฟื้นพลังเศรษฐกิจ ... จุดพลุอสังหาฯ พาไทยติดปีก ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ร่วมกับกระทรวงการคลัง ยํ้าว่า “ข้อเท็จจริงคือเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะถดถอย แต่เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าภาวะถดถอย จากตัวเลข และสถิติต่างๆ ที่ติดตามตั้งแต่ต้นปีก็ไม่ถดถอย เพียงแต่การขยายตัวช้าลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว การจะฟื้นเศรษฐกิจต้องสร้างความมั่นใจ ความเชื่อมั่น จึงต้องดูแลเศรษฐกิจ”
ทั้งนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต รัฐบาลมีความมุ่งหมายให้คนไทยมีโอกาสที่จะเข้าถึงที่อยู่อาศัย เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย เป็นการสร้างความมั่นคงในชีวิต และการวัดเศรษฐกิจดีอย่างไร วัดด้วยตัวเลขได้ แต่ตัววัดที่แท้จริงคือความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตของคนไทย ความต้องการเข้าถึงที่อยู่อาศัยยังมีอยู่อีกมากทั่วประเทศ เพราะการมีที่อยู่อาศัย เป็นความมั่นคงของชีวิต ของอนาคตลูกหลาน ดังนั้นรัฐบาลต้องช่วยสนับสนุน
นอกจากนี้ภาคอสังหาฯ มีการพัฒนาหลากหลายรูปแบบ จึงมีบทบาทสูงในระบบเศรษฐกิจของแทบทุกประเทศ เพราะเศรษฐกิจสมัยใหม่อสังหาฯ มีบทบาทสูง เพราะยึดโยงกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลากหลาย ตั้งแต่การลงทุนของผู้ประกอบการ ลงทุนพัฒนาโครงการทั้งภายในและภายนอกประเทศที่เข้ามาลงทุนและร่วมลงทุน ทำให้เกิดการจ้างงานจำนวนมากในประเทศ เพราะต้องใช้คนทำงานในหลายระดับ วิศวกร สถาปนิก ช่างเฉพาะทาง แรงงานก่อสร้าง
นอกจากนั้นยังมีเรื่องการผลิตในประเทศที่ต้องการส่งเสริม วัสดุก่อสร้างที่คนไทยทำได้ การออกแบบ อุปกรณ์ทั้งหลายที่ต้องใช้ เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งนั้น สะท้อนถึงบทบาทสำคัญและผลกระทบของอสังหาฯต่อเศรษฐกิจของไทย ในยามเศรษฐกิจขยายตัวได้ดี ภาคอสังหาฯก็ขยายตัวได้ดีตาม การจ้างงานก็มี เงินก็สะพัดเพราะมีการขายบ้าน คอนโดฯ อาคารพาณิชย์ ต่อเนื่องมาถึงแรงงานกลุ่มต่างๆ นำไปหมุนเวียนเศรษฐกิจได้ทั่วประเทศ
เร่งรสก.อัดงบ 1 แสนล.
นอกจากมาตรการเศรษฐกิจแล้ว เรื่องของการลงทุนภาครัฐต้องมีบทบาท โดยรัฐบาลเร่งรัดกระทรวงการคลัง ให้รัฐวิสาหกิจกว่า 50 แห่งเร่งลงทุน ทั้งนี้แต่ละแห่งมีแผนลงทุนปีหน้า ก็ให้ลงทุนในไตรมาส 4 ปีนี้ หากลงทุนเร่งได้เร็วขึ้นเศรษฐกิจก็หมุนเวียน ซึ่งรัฐวิสาหกิจทุกแห่งให้คำมั่นจะผลักเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจรวมกันกว่า 1 แสนล้านบาทในไตรมาส 4 โดยตัวนี้จะเป็นตัวหนึ่งที่ช่วยให้เศรษฐกิจพื้นตัว
“อยากให้ทราบข้อมูล เห็นภาพว่าเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไร แล้วผลกระทบทำเราชะลอตัวแต่ยังไม่ได้ถดถอย แล้วเราก็เร่งดูแลซึ่งกันและกัน ชุดมาตรการมีแต่รัฐบาลทำฝ่ายเดียวไม่ได้ ทุกภาคส่วนก็ต้องมาช่วยกัน ช่วยดูแลกันให้ความเชื่อมั่นมันเกิด ความเชื่อมั่นว่าเรามีอนาคต ไม่หดหู่ แล้วทุกอย่างจะไปตามนั้นเอง”
พื้นฐานศก.ไทยยังแกร่ง
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย บรรยายพิเศษใน หัวข้อ “แก้เศรษฐกิจต้องระเบิดจากข้างใน : Case Study ชิม ช้อป ใช้” ระบุถึงภาพรวมภาวะเศรษฐกิจโลกว่า ประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยทั้งสหรัฐฯ และยุโรปที่ปรับลดลงเหลือ 2.5% และ1.2% ตามลำดับและไทยในปี 2563 จีดีพีน่าจะขยายตัว 3% จากสิ้นปีนี้หลายค่ายวิจัยทำนายการเติบโตอยู่ระหว่าง 2.5-2.8%
ซึ่งเป็นผลกระทบจากการต่อสู้ของ 2 มหาอำนาจ (สหรัฐอเมริกาและจีน) ที่ยังไม่มีข้อสรุปในการเจรจาทางการค้าหรือเทรดวอร์ โดยสหรัฐฯ ปรับเพิ่มภาษีนำเข้าจาก12% เป็น 26.6% ขณะที่จีนก็ปรับเพิ่มภาษีนำเข้าจาก 18.2% เป็น 25% ซึ่งการปรับขึ้นภาษีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันทั้ง 2 ประเทศ และเทรดวอร์นำไปสู่ภาวะกระจุกตัวกับผู้ผลิตระดับโลกทุกรายต้องทบทวนปรับย้ายฐานการผลิตเพื่อให้การขนส่งสามารถแข่งขันได้
ขณะที่ภาวะการชะลอตัวมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลแต่ละประเภทสะท้อนการติดลบ ทั้งในยุโรป เอเชีย และญี่ปุ่น โดยเฉพาะญี่ปุ่นนั้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั้งอายุมากกว่า 7 ปี และ10 ปีติดลบ ในส่วนของไทยเห็นผลกระทบภาคการท่องเที่ยวเติบโตลดลงจากปีก่อน
โดยปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวเหลือ 4.2% คาดว่าปีหน้าประมาณ 5% แต่ภาคการส่งออกหดตัวต่อเนื่องและมีโอกาสติดลบถึงปี 2563 เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่ติดลบในเดือนกันยายน และการบริโภคลดตํ่าใกล้ 0% ทั้งนี้แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้ง แต่เงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง จึงต้องติดตามว่าธปท.จะชะลอการนำสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (DSR) มาใช้ในปีหน้าหรือไม่
ชิม ช้อป ใช้สะพัด 1.4 แสนล.
โครงการชิม ช้อป ใช้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากการประเมินของศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย ถึงสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เชื่อว่า โครงการชิมช้อป ใช้ จะนำไปสู่การหมุนเวียนของเงินในประเทศกว่า 1 แสนล้านบาท ที่เหลืออีก 2 เดือนซึ่งโครงการยังคงดำเนินอยู่เชื่อว่าโครงการ G-Wallet กระเป๋า 2 จะเพิ่มอีก 2-3 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันการใช้จ่ายผ่าน G-Wallet 2 เพิ่มขึ้นกว่า 9 พันล้านบาทแล้ว ที่สำคัญ หากสามารถกระตุ้น เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ 1.4 แสนล้านบาทจะมีผลต่อจีดีพี ราว 0.8%
“ตอนนี้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบแล้วกว่า 1.9 หมื่นล้านบาทจากที่ประชาชนจำนวน 12 ล้านคนจับจ่ายใช้สอย โดยมีตัวเลขร้านค้าทุกประเภททั่วประเทศและเป็นร้านค้าขนาดเล็กมากกว่า 80% ส่วนจำนวนคนไทยที่ท่องเที่ยวและใช้จ่ายในพื้นที่ตั้งแต่เดือนตุลาคมกระเตื้องขึ้น 1.2% (หลังจากติดลบทั้งเดือนสิงหาคม-7.6% เดือนกันยายน-2.4%) และมีรายได้จากการใช้สอย 4.9% ที่สำคัญกว่า 50% เป็นการใช้จ่ายในเมืองรอง”
จากตัวเลขดังกล่าวเห็นได้ว่า มาตรการชิม ช้อป ใช้ เป็นมาตรการในประเทศที่ดูแลตัวเอง และบรรลุตามวัตถุประสงค์ นอกจากจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แล้ว ยังเป็นการปฏิรูปโครงสร้างในการเปลี่ยนผ่านสู่ “Digital Economy” เห็นได้จากการกระจายไปในร้านค้าขนาดเล็ก จังหวัดเมืองรองและทั่วประเทศ ยังทำให้เกิดการใช้จ่ายและมีคนเข้าสู่ระบบ Digital Payment Infrastructure ได้ถึง 12 ล้านคน ทำให้เกิดการกระตุ้นตรงกลุ่มคน ตรงพื้นที่ เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ว่าจุดรับเงินหรือจุดชำระเงิน มีความโปร่งใส รวดเร็วและตรวจสอบ และหากรวมบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีก14 ล้านคน เท่ากับมีคนเข้าสู่ระบบเกือบ 30 ล้านคนแล้ว
“ที่ผ่านมาผลการกระตุ้นจากโครงการชิม ช้อป ใช้ ทำให้สภาวะเศรษฐกิจในประเทศมีความคึกคัก จึงอยากเชิญชวนคนไทยทุกคนให้มีส่วนร่วมในการใช้จ่ายผ่าน G-Wallet กระเป๋า 2 วงเงิน 50,000 บาท จะได้เงินคืน 8,500 บาทคือ 3 หมื่นบาทแรกจะได้รับเงินคืน 15% หรือ 4,500 บาท ถ้าใช้จ่ายอีก 2 หมื่นบาทรวมเป็น 5 หมื่นบาทจะได้รับเงินคืน 20%
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3531 วันที่ 15-18 ธันวาคม 2562