นางสาวรัชดา ตั้งหะรัฐ กรรมการผู้จัดการ สายพัฒนาธุรกิจ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.)ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ UOBAM เปิดเผยว่า หลังเปิดตัวกองทุนเปิด United Harmony Fund Series มา 4 เดือน ได้รับความสนใจและการตอบรับที่ดีมากจากนักลงทุน ประกอบกับทีมบริหารกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญและได้รับความร่วมมือด้านข้อมูลการลงทุนในระดับภูมิภาค ทำให้กองทุนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ(AUM)เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 17 มกราคม 2563 มี AUM ทั้งสิ้น 5,132 ล้านบาท เติบโตกว่า 800% จากมูลค่า AUM 568 ล้านบาท ณ วันที่จดทะเบียนกองทุน(30 ก.ย. 2562)
"จุดเด่นกองทุนที่เป็นปัจจัยหนุนให้ประสบความสำเร็จ มาจากกลยุทธ์การบริหารพอร์ตของทีมผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญ โดยในแต่ละโมเดลการลงทุน จะมีการกำหนดสินทรัพย์ที่ลงทุนแตกต่างกัน โดยจะร่วมพัฒนาพอร์ตการลงทุน เข้าถึงข้อมูลการวิเคราะห์เชิงลึก พร้อมทั้งวางแผนพัฒนา ปรับเปลี่ยน และ rebalance พอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ลงทุนอยู่เสมอ เพื่อสร้างผลตอบแทนสูงสุดบนความเสี่ยงที่เหมาะสมของแต่ละกองทุน การบริหารจัดการกองทุนที่มีประสิทธิภาพนี้ ส่งผลให้กองทุนสามารถบริหารผลการดำเนินงานได้ดี เป็นผลให้กองทุนได้รับการตอบรับจากนักลงทุนอย่างมาก”
ทั้งนี้กองทุน United Harmony–Jazz Fund (UJAZZ) เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ในระดับต่ำถึงกลาง เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนบนอัตราผลตอบแทนที่ใช้เป็นตัวชี้วัด 4% ต่อปี มีความผันผวนปานกลางเฉลี่ย 4-6% ส่วนกองทุน United Harmony–Pop Fund (UPOP) เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลางถึงสูง เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนบนอัตราผลตอบแทนที่ใช้เป็นตัวชี้วัด 6% ต่อปี มีความผันผวนไม่สูงมากเฉลี่ย 6-10% และกองทุน United Harmony–Rock Fund (UROCK) เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงสูงได้ เน้นลงทุนในหุ้น เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนบนอัตราผลตอบแทนที่ใช้เป็นตัวชี้วัด 8% ต่อปี มีความผันผวนสูงเฉลี่ย 10-15%”
“ขณะที่ผลการดำเนินงานย้อนหลังของกองทุน ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยกองทุน UJAZZ ให้ผลตอบแทนนับจากจัดตั้งกองทุน (ถึงวันที่ 17 ม.ค. 2563) อยู่ที่ 4.06% กองทุน UPOP ให้ผลตอบแทนนับจากจัดตั้งกองทุน (ถึงวันที่ 17 ม.ค. 2563) อยู่ที่ 5.14% และกองทุน UROCK ให้ผลตอบแทนนับจากจัดตั้งกองทุน (ถึง 17 ม.ค. 2563) อยู่ที่ 7.06%"
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนปี 2562 แม้จะเผชิญกับปัจจัยสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสงครามการค้าของจีนและสหรัฐฯที่ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก และส่งผลให้ภาวะตลาดการลงทุนมีความผันผวนสูงต่อเนื่อง และปี 2563 ยังคงมีประเด็นความเสี่ยงทางการเมือง การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผลกระทบจากประเด็น Brexit และประเด็นความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และการแพร่ระบาดของเชื้อไว้รัสโควิด-19 เพิ่มมาเป็นปัจจัยหลักที่อาจส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม เริ่มต้นปี 2563 เศรษฐกิจโลกเริ่มแสดงสัญญาณการฟื้นตัวทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการ หลังจากที่ชะลอตัวลงมานานถึงเกือบ 2 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ทั่วโลกดำเนินนโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา บวกกับความคาดหวังว่าความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะคลายตัวลงไป ซึ่งจากประมาณการล่าสุดของ IMFชี้ว่า เศรษฐกิจโลกปรับตัวขึ้นเป็น +3.3% ในปี 2563 จากปี 2562 ขยายตัว 2.9% และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยประมาณการณ์ปี 2564 อยู่ที่ +3.4%