รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สัญญาณผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) และธนาคารกลางหลายๆ ประเทศในระยะนี้ เป็นเพียงขั้นแรกๆ ของการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อช่วยจำกัดความเสี่ยงจากการระบาดของไวรัสโคโรนา(COVID-19) ที่ยังมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น และอาจทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศเผชิญความเสี่ยงที่จะหยุดชะงัก หรือหดตัวลงต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 2/2563 ซึ่งภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ย่อมมีผลให้การฟื้นคืนบรรยากาศความเชื่อมั่นยังคงเป็นเรื่องยาก และการกลับเข้าสู่ภาวะปกติอย่างเต็มที่ของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของหลายประเทศและเศรษฐกิจโลกในภาพรวม อาจต้องใช้ระยะเวลาที่นานมากขึ้น
“เฟดมีมติเอกฉันท์ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% ในการประชุมนัดฉุกเฉินเมื่อ 3 มี.ค.สะท้อนว่า เฟดปรับมุมมองที่มีต่อเรื่องผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน-ภาคธุรกิจ และภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไปใน “เชิงลบ””มากขึ้น จึงทำให้ไม่สามารถรอเวลาจนถึงรอบการประชุมนโยบายการเงินตามปกติ ซึ่งกำหนดจะจัดขึ้นในวันที่ 17-18 มี.ค. อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ยังคงต้องติดตามการส่งสัญญาณของเฟด และการเปิดเผยตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชุดใหม่ในการประชุมตามวาระปกติที่จะถึงนี้อย่างใกล้ชิด เพราะข้อมูลดังกล่าวจะบ่งชี้ถึงการประเมินระดับความเสี่ยงและขนาดความรุนแรงของผลกระทบจาก COVID-19 ที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า”
สำหรับระดับความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในระยะข้างหน้า ทำให้ยังตลาดการเงินประเมินว่า เฟดยังมีความจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกอย่างน้อย 0.50% ภายในช่วงที่เหลือของปีนี้ ขณะที่ตลาดสัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้า เริ่มสะท้อนโอกาสประมาณ 9% ที่จะเห็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดกลับไปอยู่ในกรอบ 0.00-0.25% ในกรณีที่การระบาดของ COVID-19 รุนแรงในวงกว้าง และกระจายตัวไปยังหลายๆ ประเทศมากขึ้น
ดังนั้น แนวโน้มที่อ่อนแอของเศรษฐกิจไทย และผลกระทบที่มากขึ้นตามระยะเวลาการระบาดของ COVID-19 ต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินของไทย (จากปัจจุบันที่ 1.00%) ลงอย่างน้อย 0.25% ในรอบการประชุมวันที่ 25 มี.ค. 2563 นี้ ซึ่งคาดว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะส่งผลต่อเนื่องให้อัตราดอกเบี้ยของตลาดการเงินและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับลดลงตามอีกครั้ง ซึ่งจะช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงินลงได้ระดับหนึ่งในระหว่างที่มาตรการทางการคลัง และมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ ของภาครัฐและภาคเอกชนกำลังลงไปสู่ผู้ประกอบการภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ