การสานต่อนโยบายการเติบโตจากภายนอก หรือ Inorganic Growth ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา หลังเข้าซื้อ หุ้น 50% ของบริษัท เอสบี ไฟแนนซ์ คอมปานี อิงค์ หรือ SBF ซึ่งเป็นการร่วมทุน (Joint Venture)ในบริษัทไฟแนนซ์ของซีีิเคียวริตี้ แบงก์ คอร์ปอเรชั่น (Security Bank Corporation; SBC) ในฟิลิปปินส์ เพื่อเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของการขยายธุรกิจสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)
สำหรับความคืบหน้าของแผนทำตลาดในต่างประเทศ ภายใต้นโยบายการขยายตลาดในเออีซีของ ธนาคารกรุงศรีอยุธยานั้น นางสาวณญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตภายใต้แบรนด์ กรุงศรี เฟิร์สช้อยส์เปิดเผยว่า บริษัทได้จัดทำแผนธุรกิจแล้วเสร็จไปตั้งแต่ปลายปี 2562 ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอพันธมิตรให้ใช้แบรนด์ เฟิร์สช้อยส์ในการทำตลาดสินเชื่อรายย่อยในฟิลิปปินส์นำร่องไปก่อน คาดว่าจะเริ่มทำธุรกิจสินเชื่อรายย่อยในฟิลิปปินส์ประมาณเดือนมิถุนายนจากนั้นจึงจะขยายบริการเพิ่มเติม
ทั้งนี้ปัจจุบันแบรนด์ของเฟิร์สช้อยส์ได้เข้าไปทำธุรกิจใน 2 ประเทศแล้วคือ สปป. ลาวและกัมพูชา ในเออีซีถือว่ากลุ่มกรุงศรีอยุธยามีความน่าสนใจในสายตาของพันธมิตร แม้พื้นฐานของแต่ละประเทศจะไม่เหมือนกัน แต่ด้วยประสบการณ์ที่มีของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จึงพร้อมที่จะขยายตลาดในหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความต้องการของประเทศนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจแบบเก่าหรือช่องทางดิจิทัล
ณญาณี เผือกขำ
“15 ปีก่อนไม่มีดิจิทัลหรือ application แต่ปัจจุบันเมื่อดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามา เราจึงทำแผนธุรกิจทั้ง 2 รูปแบบทั้งแบบเดิมและดิจิทัล โดยตลาดสินเชื่อรายย่อยในเอเชียยังมีอัตราการเติบโตมากกว่าตลาดในเมืองไทย เพราะแม้ภาพรวมธุรกิจรายย่อยในประเทศยังมีความต้องการ แต่ตลาดในเมืองไทยยังต้องเผชิญกับสถานการณ์หนี้ต่อครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับหลายปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะตลาดสินเชื่อรายย่อยในประเทศปีนี้แผ่วลง จึงเป็นที่มาของการขยายตลาดออกไปนอกประเทศตามที่โอกาสตลาดเปิด”
ส่วนแผนธุรกิจในประเทศ นางสาวณญาณีกล่าวว่า ปีนี้จะเน้นการให้ความช่วยเหลือลูกค้าทั้งรายย่อยทั่วไปและประเภทธุรกิจให้สามารถประคองตัวอยู่ได้ ด้วยมาตรการช่วยเหลือทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ไปจนถึงสิ้นปี ขณะเดียวกันได้ปรับแผนการทำธุรกิจใหม่ เพื่อขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น รวมถึงสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ที่จะร่วมมือกับโฮมโปร โดยนำข้อมูลของลูกค้าที่มีอยู่ (Information based lending) เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งเป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและรักษาคุณภาพในการอนุมัติสินเชื่อ โดยการคัดเลือกลูกค้าที่มีคุณภาพและมีแนวโน้มว่าจะผ่านการอนุมัติเข้ามาก่อนอัตราการได้รับอนุมัติอยู่ที่ 50% โดยไม่ได้ปรับลดลง
ด้านนายอธิป ศิลป์พจีการ ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารธุรกิจ กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ กล่าวว่า ความร่วมมือกับโฮมโปร จะเป็นการใช้ฐานข้อมูลและประวัติการซื้อสินเชื่อหรือการประกอบธุรกิจของลูกค้าโฮมโปรเพื่อใช้ประกอบในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตรงกลุ่มเป้าหมายและตรงความต้องการของลูกค้า โดยที่โฮมโปรสามารถเพิ่มยอดขายจากเฟิร์สช้อยส์และปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าหรือผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ โดยเบื้องต้นจะคัดเกรดลูกค้าที่ต้องการวงเงินประมาณ 20,000 รายจากฐานลูกค้าที่มีอยู่กว่า 2 แสนราย ซึ่งจะเริ่มทำตลาดในเฟสแรกกลางเดือนมีนาคมนี้
“เป็นความตั้งใจหาวิธีพิจารณาทางเลือกอื่นๆ เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพราะที่ผ่านมาเรามีลูกค้าสนใจหรืออยากเป็นสมาชิกถึง 8 ล้านรายแต่การพิจารณาแบบเดิม ทำให้ไม่ผ่านการอนุมัติจึงต้องใช้ information based lending เพราะจริงๆกลุ่มนี้ก็มีศักยภาพเพียงแต่ต้องพิสูจน์ความสามารถในการชำระคืนและพยายามดึงลูกค้านอกระบบเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบให้ได้”
หน้า 13-14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,555 วันที่ 8-11 มีนาคม 2563