GPI รุกโรงไฟฟ้า เสริมแกร่งรายได้

11 เม.ย. 2563 | 04:45 น.
อัปเดตล่าสุด :12 เม.ย. 2563 | 08:23 น.

ผลจากการยกระดับในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ด้วยมาตรการปิดเมือง หรือที่เรียกว่า Lock Down เพื่อควบคุมและจำกัดการเดินทาง การยกเลิกกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่สาธารณะ เพื่อรักษาระยะห่างทางสัมคม ไปจนถึงการกักตัวเองภายในบ้านพัก ส่งผลให้กิจกรรมทาง เศรษฐกิจต่างๆ ต้องหยุดชะงักลง การจัดอีเวนต์ต่างๆ ต้องเลื่อนออกไป ซึ่งรวมถึงงานมอเตอร์โชว์ 2020 อีกหนึ่งงานใหญ่ของวงการรถยนต์ ที่จะเป็นตัวชี้วัดกำลังซื้อและกระตุ้นยอดขายของค่ายรถยนต์ในช่วงไตรมาสแรก

นายพีระพงศ์ เอี่ยมลำเนา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ GPI เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า การจัดงานอีเวนต์ขณะนี้ได้รับผลกระทบบ้างซึ่งยังต้องรอดูเดือน พฤษภาคมอีกที หากสถานการณ์ยังไม่ชัดเจน ก็ยังมีอีกทีช่วงปลายปีแต่ถ้าสุดท้ายแล้วรัฐบาลไม่ให้จัดก็คงจัดไม่ได้ ซึ่งเราอยู่ตรงนี้ เคยผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มาบ้างแล้ว ช่วงนี้ก็ต้องรอดูสถาน การณ์ก่อน 

ส่วนการเข้าลงทุนในบริษัท ทรูเอ็นเนอร์จี จำกัด เพื่อเข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะนั้น เป็นการเจรจากันมาพักหนึ่งแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเจรจา เพื่อจะนำรายได้เข้ามาทดแทนรายได้จากการจัดอีเวนต์ แต่เราเคยคิดไว้แล้วที่จะลงทุนเพิ่มในธุรกิจอื่นนอกเหนือจากรายได้จากการจัดอีเวนต์ และสื่อ ซึ่งก็คุยมาเรื่อย และหาธุรกิจที่แปลกออกไปเพื่อการเติบโต ก็พอดีว่ามีดีลนี้เข้ามาพอดี และเห็นว่าน่าลงทุนเพราะเราอยู่ในธุรกิจยานยนต์ก็เห็นว่า ธุรกิจพลังงานไฟฟ้าสำคัญ ความต้องการยังสูงและในอนาคตหากมีรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาอีก ไฟฟ้าก็อาจจะไม่พอ

 

พีระพงศ์ เอี่ยมลำเนา

 

มันเป็นจังหวะพอดี และคิดว่าน่าจะมาทดแทนรายได้จากอีเวนต์ที่ลดลงส่วนหนึ่ง แต่ก็คงไม่ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันเรามีสัดส่วนรายได้ 80% มาจากการจัดอีเวนต์ และกิจกรรมส่งเสริมการตลาด และอีก 20% มาจากธุรกิจงานพิมพ์และสื่อ ซึ่งที่จริงสัดส่วนรายได้สื่อเคยอยู่ที่ 30% แต่ลดลงเลยทำให้สัดสวนทางอีเวนต์เพิ่มขึ้นโดยที่เราก็ไม่ได้ตั้งใจจะไปเพิ่มตรงส่วนนั้น แต่ในอนาคตหากทำธุรกิจไฟฟ้าแล้วดีและมีโอกาส เราก็จะขยายเพิ่มเติม เพื่อให้มีสัดส่วนรายได้ที่เสถียรภาพและมีความมั่นคงในอนาคต

 

สำหรับการลงทุน โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ ในอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์นั้น  มีกำลังการผลิตติดตั้ง เมกะวัตต์ (MW) โดยใช้งบลงทุน 250 ล้านบาท ถือเป็นการขยายธุรกิจครั้งสำคัญของบริษัท โดยบริษัทจะได้รับสิทธิเป็นกรรมการในบริษัท ทรูเอ็นเนอร์จี จำกัด ส่วนทรูเอ็นเนอร์จีจะรับผิดชอบการบริหารโรงไฟฟ้าและการจัดหาขยะชุมชน เพื่อนำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF (Refuse Derived Fuel) เพื่อผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันมีแหล่งขยะเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นที่เรียบร้อย

 

ปัจจุบันโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าว มีความคืบหน้าใกล้แล้วเสร็จ คาดว่าจะเริ่มผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ โดยจะได้รับ Adder หรือส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 3.50 บาทต่อหน่วย (Kwh) เพิ่มจากค่าไฟฐานเป็นระยะเวลา 7 ปีนับจากวันที่เริ่มต้นจำหน่ายไฟฟ้า 

นอกจากนี้บริษัท ทรูเอ็นเนอร์จี จำกัด ยังได้ทำสัญญารับกำจัดขยะ โดยวิธีคัดแยกกับเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ มีอายุสัญญา 25 ปี (นับจาก 12 พฤศจิกายน 2558) เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า จากการประเมินปริมาณขยะจากบ่อฝังกลบของเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ พบว่ามีปริมาณขยะจากบ่อฝังกลบ 3 แห่งรวมประมาณ 5 แสนตัน ในจำนวนนี้ 70% สามารถนำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF ซึ่งเมื่อรวมกับปริมาณขยะที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต มั่นใจว่าจะมีปริมาณขยะเพียงพอต่อการแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF ตลอดอายุสัญญาจำหน่ายไฟฟ้า

เราประเมินว่า การลงทุนครั้งนี้จะใช้ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 5 ปี ประเมินอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return: EIRR) ที่ 11% ต่อปี ถือว่าค่อนข้างเร็ว ซึ่งจะส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานอย่างสมํ่าเสมอ

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,564 วันที่ 9-11 เมษายน 2563