ปรับกลยุทธ์การลงทุนอย่างไร เพื่อรับความเสี่ยง จากโควิด-19

21 เม.ย. 2563 | 00:00 น.

ปีนี้เป็นอีกหนึ่งปีแห่งความท้าทา ในโลกของการลงทุน นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกปรับลดลงไปแล้ว 22% ขณะที่ราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีและราคาทองคำพุ่งขึ้น 11% และ 5% ตามลำดับ

KBank Private Banking ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารความมั่งคั่ง ได้เตรียมรับมือความเสี่ยง ด้วยการจัดสรรและปรับพอร์ตลงทุนของลูกค้า ผ่านการผสมผสานหลากหลายสินทรัพย์และกลไกควบคุมความเสี่ยง จะช่วยให้เกิดผลขาดทุนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการลงทุนแบบดั้งเดิม

กลยุทธ์การปรับพอร์ต เพื่อเตรียมรับความผันผวน ท่ามกลางความตื่นตระหนกเช่นนี้ คงยากที่จะหาพอร์ตลงทุนที่หลีกเลี่ยงภาวะขาดทุนได้ อย่างไรก็ดี KBank Private Banking ตระหนักถึงสถานการณ์เช่นนี้ดี จึงได้ปรับคำแนะนำแก่ลูกค้า โดยปรับพอร์ตการลงทุนต่างๆ อยู่ในโหมดระมัดระวัง มาตั้งแต่ปี 2019 ที่ราคาสินทรัพย์พุ่งขึ้นภายใต้เศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงท้ายวัฏจักรของการเติบโต (Late Cycle)

สำหรับการจัดสรรพอร์ตลงทุน ได้เน้นพอร์ตหลัก (CORE Portfolio) ที่กระจายและจัดสรรความเสี่ยงในแต่ละสินทรัพย์เป็นอย่างดี พร้อมด้วยพอร์ตเสริม (Satellite Portfolio) โดยลดการลงทุนในหุ้น เพิ่มทองคำ และเพิ่มการถือสินทรัพย์ใกล้เคียงเงินสด ระหว่าง 5-11% ขึ้นอยู่กับกรอบความเสี่ยงของแต่ละพอร์ต

 

ปรับกลยุทธ์การลงทุนอย่างไร  เพื่อรับความเสี่ยง  จากโควิด-19

กลยุทธ์การปรับพอร์ตหลัก เพื่อควบคุมผลขาดทุนให้อยู่ในระดับตํ่ากว่าตลาด KBank Private Banking แนะนำให้ลูกค้าลงทุนส่วนใหญ่ในพอร์ตหลัก มีการบริหารจัดการภายใต้ 2 หลักการสำคัญ

1.ปรับสมดุลความเสี่ยงของสินทรัพย์ (Risk-based Allocation) กล่าวคือ สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หุ้น จะได้รับเงินลงทุนส่วนน้อย ขณะที่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงตํ่า เช่น ตราสารหนี้ จะได้รับเงินลงทุนส่วนใหญ่ ในภาวะที่ตลาดหุ้นมีความเสี่ยงสูงมากกว่าตราสารหนี้ 3 เท่า การกระจายความเสี่ยงที่แท้จริงคือ ถือหุ้น 25% ต่อตราสารหนี้ 75% ซึ่งต่างจากการลงทุนแบบดั้งเดิม (Traditional Asset Allocation) ที่มักแบ่งเงินลงทุนอย่างละครึ่ง ทำให้ความเสี่ยงที่แท้จริงกระจุกตัวอยู่ในหุ้น

2.ปรับพอร์ตอย่างสมํ่าเสมอ (Active Rebalancing) ซึ่งมีความจำเป็นและสำคัญมาก เนื่องจากตลาดที่ผันผวน และราคาสินทรัพย์ทั่วโลกที่อ่อนไหว ด้วยปัจจัยขับเคลื่อนต่างๆ มากมายอย่างรวดเร็ว

กลยุทธ์การปรับพอร์ตเสริม เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว พอร์ตเสริม หรือ Satellite Portfolio สามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วนย่อย

1.กลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโต: ปัจจุบัน KBank Private Banking แนะนำให้เลือกลงทุนในหุ้น จีน A Share ที่มีกลไกควบคุมความเสี่ยง และในหุ้นธุรกิจ Megatrend เช่น พลังงานแห่งอนาคต การจัดการคุณภาพดินและนํ้า และ            

2. กลยุทธ์เพื่อสะสมรายได้: KBank Private Banking แนะนำให้กระจายการลงทุนใน REITs หรือ หน่วยทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โดยเน้นที่เอเชีย และการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ของผู้ออก ซึ่งเป็นบริษัทที่แข็งแกร่งในภูมิภาคเอเชีย

3. กลยุทธ์ที่ไม่อ้างอิงกับภาวะตลาด (Uncorrelated Strategies) เช่น การลงทุนในทองคำ ตราสารหนี้ และอัตราแลกเปลี่ยนเป็นต้น

นักลงทุนควรถือลงทุนต่อหรือไม่ KBank Private Banking ยังคงคำแนะนำให้นักลงทุนถือลงทุนต่อ (Stay Invested) เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นปัจจัยชั่วคราว แม้จะไม่มีใครรู้ว่าตลาดจะกลับมาฟื้นตัวเร็วหรือช้า แต่จาก ประสบการณ์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นจากโรคระบาดซาร์สในปี 2003 และวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008 ตลาดกลับมาฟื้นตัวได้ดีทุกครั้ง 

คอลัมน์มันนี่ดีไอวาย

ศิริพร สุวรรณการ

Financial Advisory Head Private Banking Group

ธนาคารกสิกรไทย

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3567 วันที่ 19-22 เมษายน 2563